หน้าเว็บ

วันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566

การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)

ทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) เป็นพฤติกรรมที่บ่งถึงความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างคล่องแคล่ว โดยมีเวลาและคุณภาพของงานเป็นตัวชี้ระดับของทักษะ ซึ่งบลูมได้แบ่งลำดับขั้นของพฤติกรรมออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่

1. เลียนแบบ (Imitation) คือ พฤติกรรมที่เกิดจากการสังเกตแล้วทำตาม เป็นการให้ผู้เรียนได้รับรู้หลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือเป็นการเลือกหาตัวแบบที่ตนเองสนใจ

2. ทำได้ตามแบบ (Manipulation) คือ การทำตามได้ โดยผู้เรียนจะพยายามฝึก
ตามแบบที่ตนสนในและพยายามทำซ้ำ ๆ เพื่อที่จะให้เกิดทักษะตามแบบที่ตนสนใจให้ได้ หรือสามารถปฏิบัติงานได้ตามข้อเสนอแนะ

3. ทำได้ถูกต้องแม่นยำ (Precision) คือ พฤติกรรมที่ทำได้ถูกต้อง โดยผู้เรียนจะมี
การควบคุมพฤติกรรมเพื่อลดความผิดพลาดต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ทำให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องชี้แนะ พร้อมทั้งพยายามหาความถูกต้องในการปฏิบัติ

4. ทำได้ต่อเนื่องประสานกัน (Articulation) คือ พฤติกรรมที่ผู้เรียนได้เรียนรู้
วิธีการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากตัดสินใจเลือกรูปแบบที่เป็นของตัวเองและได้กระทำ ตามรูปแบบนั้นอย่างต่อเนื่อง จนปฏิบัติงานที่ยุ่งยากซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง คล่องแคล่ว การที่ผู้เรียนเกิดทักษะได้ ต้องอาศัยการฝึกฝนและกระทำ อย่างสม่ำเสมอ

5. ทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ (Naturalization) คือ พฤติกรรมที่ได้จากการฝึก
อย่างต่อเนื่อง จนสามารถปฏิบัติได้คล่องแคล่วว่องไวโดยอัตโนมัติ เป็นไปอย่างธรรมชาติ



ตารางที่ 6.6 แสดงคำกริยาสะท้อนพฤติกรรมด้านทักษะพิสัย

ลำดับขั้นของพฤติกรรม

คำกริยาที่สะท้อนพฤติกรรมด้านทักษะพิสัย

เลียนแบบ

(Imitation)

สังเกตและทำตาม ดูและทำตาม ทำตามตัวอย่าง คัดลอก ทำซ้ำ เขียนซ้ำ ทำตาม ปฏิบัติตาม

ทำได้ตามแบบ

(Manipulation)

ลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ สร้าง ทำ ทำอีกครั้ง ดำเนินการ จัดการ ปฏิบัติการ กระทำ ทำให้เกิดขึ้น นำไปปฏิบัติ

ทำได้ถูกต้องแม่นยำ

(Precision)

ปฏิบัติถูกต้อง สาธิต ทำด้วยตนเอง แสดง ทำได้อย่างแม่นยำ ทำได้อย่างสมบูรณ์ ทำได้ครบถ้วน ทำได้ตามมาตรฐาน ใช้ทักษะ

ทำได้ต่อเนื่องประสานกัน (Articulation)

สร้าง ผูกเรื่อง แก้ปัญหา รวม ประสาน เสริม สอดคล้อง บูรณาการ ประยุกต์ พัฒนา บัญญัติ คิดสูตร กำหนด ดัดแปลง

ทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ (Naturalization)

ออกแบบ ระบุ กำหนดเป้าหมาย ใช้กระบวนการ ใช้กลยุทธ์ บริหารจัดการ จัดการ ประดิษฐ์ จัดโครงการ ทำโครงงาน

 

          ทั้งนี้ครูคณิตศาสตร์ต้องคำนึงถึงความสอดคล้องของการเขียนจุดประสงค์ด้านทักษะพิสัยหรือครูบางท่านเรียกจุดประสงค์ด้านนี้ว่า ทักษะกระบวนการ กับสาระ มาตรฐาน และตัวชี้วัดที่ระบุไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้ด้วย เนื่องจากวิชาคณิตศาสตร์มีสาระที่เกี่ยวข้องกับทักษะกระบวนการโดยตรง คือ สาระที่ 6 ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ที่เน้นให้ผู้เรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหา  การให้เหตุผล    การสื่อสาร  การสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ และการนำเสนอ การเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์และเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่น ๆ และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยครูสามารถนำคำกริยาที่สะท้อนพฤติกรรมด้านทักษะพิสัยมาเขียนเชื่อมโยงกับทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานและตัวชี้วัดตามหลักสูตร


อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น