หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ความสำคัญของแผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์

 แผนการจัดการเรียนรู้คือเครื่องมือที่สำคัญของครูที่จะทำให้การออกแบบการจัดการเรียนรู้เป็นระบบและประสบความสำเร็จ หากครูคณิตศาสตร์ไม่ทราบถึงความสำคัญของแผนการจัดการจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ เช่น สอนไม่ครบเนื้อหา การให้คะแนนไม่เป็นระบบ ไม่มีร่องรอยหรือหลักฐานในการเรียนของนักเรียน กิจกรรมซ้ำ ๆ เดิม ๆ ฯลฯ ครูคณิตศาสตร์จึงต้องทราบและตระหนักในความสำคัญของแผนการจัดการเรียนรู้   โดยมีรายละเอียด ดังนี้

    1. เป็นการเตรียมการสอนอย่างเป็นระบบ 

               การเตรียมการสอน คือ การเตรียมตัวล่วงหน้าของครูผู้สอนในการจัดการเรียนการสอนในแต่ละครั้ง โดยครูจะต้องเตรียมกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในชั้นเรียนอย่างรอบคอบและรอบด้าน โดยคำนึงถึงองค์ประกอบในการสอน ได้แก่ หลักสูตรสถานศึกษา จุดประสงค์ เนื้อหาสาระ วิธีการสอน กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการสอน และวิธีวัดและประเมินผล แล้วจัดทำเอกสารอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สะดวกในการนำเสนอผู้บริหารหรือผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะก่อนนำไปใช้สอนจริง การเตรียมการสอนเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญของการเป็นครูที่ดีและมีคุณภาพ เพราะการสอนในชั้นเรียนในแต่ละคาบเรียนนั้นนับเป็นเวลาที่มีคุณค่าและมีความหมายอย่างยิ่งต่ออนาคตของนักเรียน ดังที่ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (2555, 210) กล่าวถึงพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานแก่ครูอาวุโส รุ่นที่ 20 ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อ 13 ตุลาคม 2520 ความว่า ผู้เป็นครูอย่างแท้จริง นับว่าเป็นบุคคลพิเศษ ผู้ต้องแผ่เมตตาและเสียสละ เพื่อความสำเร็จ ความก้าวหน้า และความสุขความเจริญของผู้อื่นอยู่ตลอดชีวิต ที่กล่าวดังนั้น ประการหนึ่งเพราะครูจำเป็นต้องมีความรัก ความสงสารศิษย์เป็นพื้นทางจิตใจอยู่อย่างหนักแน่น จึงจะสามารถทนลำบากตรากตรำกายใจ อบรมสั่งสอนและเคี่ยวเข็ญศิษย์ให้ตลอดรอดฝั่งได้ อีกประการหนึ่งจะต้องยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเป็นอันมากเพื่อมาทำหน้าที่ครู ซึ่งทราบกันดีอยู่แล้วว่าไม่ใช่ทางที่จะแสวงหาความร่ำรวย ยศศักดิ์ หรืออำนาจความเป็นใหญ่แต่ประการหนึ่งประการใดให้แก่ตนเองเลย เมื่อครูตระหนักได้เช่นนี้แล้วจึงควรทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด

2. ช่วยให้ครูผู้สอนมีความมั่นใจในการสอน 

     ความมั่นใจในการสอนเกิดจากความพร้อมของครู โดยความพร้อมของครูมี 2 ด้าน คือ

     1) ความพร้อมด้านร่างกาย ครูควรมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง เพื่อให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นไปอย่างเต็มศักยภาพตามที่ครูผู้สอนได้เตรียมการมาเป็นอย่างดี

              2) ความพร้อมด้านจิตใจ การมีจิตใจที่ดี มั่นคง มีสติ สดชื่น แจ่มใส จะทำให้ครูผู้สอนมีความมั่นใจ คลายความตื่นเต้น และคลายความกังวลในขณะทำการสอน นักเรียนทุกคนชอบครูที่มีจิตใจดี มีเมตตา ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาไพเราะ เป็นกัลยาณมิตร ครูคณิตศาสตร์จึงควรเตรียมจิตใจให้พร้อมก่อนทำการสอนทุกครั้ง

3. ครูได้ศึกษาความรู้ที่จำเป็นในการจัดการเรียนการสอน

     การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้มีหลายหัวข้อ โดยในแต่ละหัวข้อล้วนมีที่มาที่แตกต่างกัน ครูต้องนำรายละเอียดและความรู้จากส่วนต่าง ๆ เพื่อนำมาเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ดังนี้

     1) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และหลักสูตรสถานศึกษา

     2) ทฤษฎีการสอน วิธีการสอน และนวัตกรรมการสอนรูปแบบต่าง ๆ

     3) การออกแบบการจัดการเรียนรู้ การออกแบบหน่วยการจัดการเรียนรู้ และการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้

     4) สื่อการเรียนรู้

     5) การวัดและประเมินผล

     6) จิตวิทยาการเรียนรู้

     7) จรรยาบรรณวิชาชีพครู

     8) สาระการเรียนรู้ และธรรมชาติของวิชาคณิตศาสตร์

     9) ทักษะการสอนเบื้องต้น เช่น การอธิบาย การบรรยาย การยกตัวอย่าง ฯลฯ

     10) บริบทของสถานศึกษา และพื้นฐานของนักเรียนในชั้นเรียนที่เราต้องทำการสอน


    4. ช่วยให้ครูจัดทำเอกสารและสื่อประกอบการเรียนการสอนที่เหมาะสม

การเตรียมเอกสารและสื่อประกอบการเรียนการสอนตามแผนการจัดการเรียนรู้ มีประโยชน์ดังนี้ 

         1) ช่วยให้ครูมีความมั่นใจและพร้อมที่จะทำการสอน

         2) ลดข้อผิดพลาดในการสอนเนื่องจากมีการวางแผนการสอนอย่างรอบคอบ

         3) สอนได้สอดคล้องกับหลักสูตรและตรงตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้

         4) สามารถปรับสาระและกิจกรรมให้เข้ากับบริบทของโรงเรียนและพื้นฐานของนักเรียน

         5) เลือกใช้สื่อและวิธีการประเมินผลที่เหมาะสมกับนักเรียน

เมื่อครูเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ จะทำให้ครูเอาใจใส่และเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ที่สามารถนำมาใช้สอนจริงในชั้นเรียน และพัฒนาตนเองเป็นครูเชี่ยวชาญและครูชำนาญการในการสอนคณิตศาสตร์ต่อไปในอนาคต นอกจากนั้นครูยังสามารถนำบันทึกผลหลังแผนการจัดการเรียนรู้ แบบบันทึกคะแนน หรือจุดที่ต้องพัฒนาในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ของตนเองมาวิเคราะห์เพื่อทำงานวิจัยได้อีกด้วย

อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น