หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

การนำหลักสูตรไปใช้

เมื่อการพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์ดำเนินการครบกระบวนการในการพัฒนา ลำดับต่อไปคือการนำหลักสูตรนั้นมาใช้ในทุกระดับชั้นตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของหลักสูตรคณิตศาสตร์ที่ได้พัฒนาขึ้น กระบวนการการนำหลักสูตรไปใช้นี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการพัฒนาหลักสูตร ต้องมีการวางแผน ทำความเข้าใจ ดำเนินการและทีสำคัญคือ ควรมีการทดลองใช้หลักสูตรที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อทำการศึกษาและประเมินผลก่อนนำหลักสูตรไปเผยแพร่ทั่วประเทศหรือใช้กับกลุ่มเป้าหมาย 

ความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้

การนำหลักสูตรไปใช้มีนักการศึกษาจำนวนหนึ่งให้ความหมายไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

Beauchamp (1981, 164) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึง การนำหลักสูตรไปปฏิบัติ โดยประกอบด้วยกระบวนการที่สำคัญที่สุด คือ การแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน การจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้ครูได้มีการพัฒนาการเรียนการสอน

APEID (1977, 3) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้มีความหมายครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตรไปจนถึงการอบรมครูผู้สอนให้เป็นผู้มีสมรรถนะที่จำเป็น พร้อมที่จะนำหลักสูตรไปใช้ให้ได้ผลตามที่เป้าหมายกำหนดไว้

บุญเลี้ยง ทุมทอง (2553, 263) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึง การดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ ในอันที่จะทำให้หลักสูตรที่สร้างขึ้นดำเนินไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นับแต่การเตรียมบุคลากร อาคาร สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ สภาพแวดล้อม และการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน

อัคครัตน์ พูลกระจ่าง (2552, 122) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึง ขั้นตอนในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นมีความสมบูรณ์ ทำให้หลักสูตรสามารถนำไปใช้ปฏิบัติจริงในการศึกษาได้ต่อไป องค์ประกอบของการนำหลักสูตรไปใช้มี 3 ประการ คือ ขั้นเตรียมการ ขั้นดำเนินการใช้ และขั้นประเมินผล

จากความหมายของนักการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้นสามารถสรุปความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้ได้ว่า การนำหลักสูตรไปใช้ คือ กระบวนการนำหลักสูตรลงสู่การปฏิบัติเพื่อให้กระบวนการพัฒนาหลักสูตรมีความสมบูรณ์ นำไปใช้ได้จริงตามเป้าหมายที่กำหนด โดยมีองค์ประกอบของการนำหลักสูตรไปใช้ทุกมิติ ทั้งบุคลากร อาคาร วัสดุ และการจัดการเรียนการสอน


วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ผลที่ได้จากการพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์

 ผู้เรียนคืออนาคตสำคัญของชาติ ทุกประเทศทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถ และเป็นคนดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ครอบครัวและสถาบันการศึกษาต้องร่วมมือกัน การกำหนดทิศทางในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนล้วนถูกออกแบบผ่านการพัฒนาหลักสูตรในแต่ละยุคสมัย คณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานของทุกรายวิชาและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ผลที่ได้จากการพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์มีดังนี้

  1. เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งประเทศ
  2. มีมาตรฐานในการวัดและประเมินผู้เรียนในวิชาคณิตศาสตร์
  3. เป็นการพัฒนาระบบการศึกษาให้ทันสมัย
  4. ครูผู้สอนคณิตศาสตร์มีความรู้ความเข้าใจและปรับปรุงวิธีการสอนให้ทันสมัย
  5. ยกระดับการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนานักเรียนรอบด้าน

วันเสาร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2567

กระบวนการในการพัฒนาหลักสูตร

 1. กระบวนการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดของ  Tyler

      แนวคิดTyler (1949 : 1) อ้างถึงในทัศนีย์  บุญเติม (2549 : 30-41) ในการวางแผนพัฒนาหลักสูตร มี

1)  จุดมุ่งหมายทางการศึกษาที่โรงเรียนต้องการจะบรรลุมีอะไรบ้าง

2)  ประสบการณ์ทางการศึกษาอะไรบ้างที่จะต้องมี

3) จัดประสบการณ์ทางการศึกษาเหล่านี้ให้มีประสิทธิผลได้อย่างไร

4) จะระบุอย่างไรว่าได้บรรลุจุดมุ่งหมายทางการศึกษาที่กำหนดนั้นแล้วหรือไม่

     Tyler ได้แนะนำว่า ครูควรให้ความสนใจกับประสบการณ์การเรียนรู้ในประเด็นต่าง ๆ

1) การพัฒนาทักษะในการคิด   

2) การช่วยให้ได้รับข้อสนเทศมา     

3) การช่วยพัฒนาเจตคติเชิงสังคม     

        4) การช่วยพัฒนาประโยชน์หรือความสนใจของผู้เรียน

2. กระบวนการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดของ Taba อ้างถึงในทัศนีย์ บุญเติม (2549 : 37-38)

1)  การวินิจฉัยความต้องการจำเป็น (Diagnosis  of  needs)

2)  การกำหนดวัตถุประสงค์ของหลักสูตร (Formulation  of  objectives)

3)  การคัดเลือกเนื้อหาสาระ (Selection  of  content)

4)  การกำหนดโครงสร้างวินิจฉัยความต้องการจำเป็น  (Organization  of  content)

5)  การคัดเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ (Selection  of  learning  experiences)

6)  การกำหนดโครงสร้างของประสบการณ์การเรียนรู้ (Organization  of  learning  experiences)

7)  การกำหนดสิ่งที่จะประเมินและวิธีการประเมินผลการเรียนรู้ (Determination of evaluate  and  of  the  ways  and  means  of  doing  it)

เมื่อพิจารณาจากกระบวนการพัฒนาหลักสูตรของ Taba เห็นได้ว่ากระบวนการทั้ง 7 ขั้นนี้ยังอยู่ในขั้นตอนแรกของระบบพัฒนาหลักสูตร คือ การเตรียมการใช้หลักสูตรเท่านั้น

จากแนวคิดดังกล่าว จึงนำเสนอรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรที่ปรับขยายแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรของ Tyler และ Taba ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเน้นด้านพื้นฐานของหลักสูตร เพื่อสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคลมากขึ้น

ขั้นที่ 1   กำหนดเป้าหมาย  จุดมุ่งหมาย  และขอบเขต (Goals, Objectives, and  Domains)            

ขั้นที่ 2   การออกแบบหลักสูตร (Curriculum  Design)

ขั้นที่ 3   การใช้หลักสูตร (Curriculum  Implementation)

ขั้นที่ 4   การประเมินหลักสูตร (Curriculum  Evaluation)

การพัฒนาหลักสูตรเน้นหนักในด้านพื้นฐานของหลักสูตร การเลือกกิจกรรมให้กับผู้เรียน ความละเอียด รอบคอบในการเชื่อมโยงหลักสูตรสู่การจัดการเรียนการสอน การใช้วิธีการสอน การใช้ทรัพยากร สื่อ และวัสดุ ที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของการเรียนการสอน

3. กระบวนการพัฒนาหลักสูตรของทัศนีย์ บุญเติมและคณะ

ทัศนีย์ บุญเติม (2549: 11) ได้กล่าวถึงกระบวนการพัฒนาหลักสูตรถึงขั้นตอนและวิธีการเชิงบรรยาย เพื่อให้เข้าใจง่ายผู้รวบรวมกระบวนการพัฒนาหลักสูตรเป็น  5  ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่ 1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องในทุก ๆ ด้าน เช่น  ประวัติหรือปรัชญาการศึกษาสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง ผู้เรียน จิตวิทยาพัฒนาการ ทฤษฎีการเรียนรู้ธรรมชาติของเนื้อหา เป็นต้น รวมทั้งการประเมินความต้องการจำเป็นเพื่อให้รู้ข้อมูลต่าง ๆ

ขั้นที่ 2 ต่อจากนั้นจึงดำเนินการร่างหลักสูตร สำเร็จเอกสารหลักสูตรหรือหลักสูตรแม่บท ซึ่งผลจากการร่างหลักสูตรนี้อาจจะได้เอกสารและวัสดุประกอบหลักสูตรอีกด้วย

ขั้นที่ 3 ประเมินผลระบบการร่างหลักสูตร คือ ประเมินปริบท

ขั้นที่ 4 การใช้หลักสูตร ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญเป็นขั้นตอนของการแปลงหลักสูตรไปสู่การสอนเพื่อให้การใช้หลักสูตรมีประสิทธิผล คือ ผลผลิตของหลักสูตรหรือผู้ผ่านหลักสูตร ต้องมีคุณลักษณะตามที่หลักสูตรมุ่งหวัง ยังมีการประเมินระบบการใช้หลักสูตรอีกด้วย โดยพิจารณาจากปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลลัพธ์

ขั้นที่ 5 การประเมินผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตร ซึ่งอาจจะจะต้องมีการประเมินทันที เช่น ความพึงพอใจของผู้ใช้ผลผลิตของหลักสูตร ประเมินผลกระทบที่มีต่อสังคม


วันจันทร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2567

หลักการในการพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์

ในการพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์ในแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในระดับประเทศ ระดับเขตพื้นที่ หรือระดับโรงเรียน ควรมีหลักการในการพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์ที่ดีเพื่อให้การพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์ในแต่ละครั้งเกิดผลลัพธ์ที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ บุญเลี้ยง ทุมทอง (2553, 167) ได้กล่าวว่า การพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการที่มีขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเป็นระบบระเบียบและเพื่อให้การพัฒนาหลักสูตรดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายของการพัฒนาอย่างแท้จริง หลักในการพัฒนาหลักสูตร มีดังนี้

1) การพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องมีผู้นำที่เชี่ยวชาญและมีความสามารถในงานพัฒนาหลักสูตรเป็นอย่างดี

2) การพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและการประสานงานอย่างดีจากบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทุกระดับ

3) การพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องมีการดำเนินการเป็นระบบระเบียบแบบแผนต่อเนื่องกันไป เริ่มตั้งแต่การวางจุดมุ่งหมายในการพัฒนาหลักสูตรนั้นจนถึงการประเมินผลการพัฒนาหลักสูตร ในการดำเนินงานจะต้องคำนึงถึงจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงว่าจะพัฒนาหลักสูตรที่จุดใดจะเป็นการพัฒนาส่วนย่อยหรือพัฒนาทั้งระบบและจะดำเนินการอย่างไรนั้นต่อไป สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ผู้มีหน้าที่ในการพัฒนาหลักสูตรไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดหลักสูตร ครูผู้สอน หรือนักวิชาการทางด้านการศึกษาและบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันพิจารณาอย่างรอบคอบ และดำเนินการอย่างมีระเบียบระบบแบบแผนทีละขั้นตอน

4) การพัฒนาหลักสูตรจะต้องรวมถึงผลงานต่าง ๆ ทางด้านหลักสูตรที่ได้สร้างขึ้นมาใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารหลักสูตร เนื้อหาวิชา การทำการทดสอบหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ หรือการจัดการเรียนการสอน

5) การพัฒนาหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพจะต้องมีการฝึกฝนอบรมครูประจำการให้มีความเข้าใจในหลักสูตรใหม่ ความคิดใหม่ แนวทางการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรใหม่

6) การพัฒนาหลักสูตรจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ในด้านการพัฒนาจิตใจ และทัศนคติของผู้เรียนด้วย

จากหลักการในการพัฒนาหลักสูตรที่กล่าวมาข้างต้นสามารถสรุปถึงหลักการในการพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์ได้ว่า การพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์ต้องมีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีความสามารถในการพัฒนาหลักสูตรเป็นผู้นำในกระบวนการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มีแผนการในการพัฒนาหลักสูตรอย่างเป็นระบบและดำเนินการตามแผนที่วางไว้อย่างรอบคอบ และเมื่อดำเนินการพัฒนาหลักสูตรเรียบร้อยแล้วต้องจัดอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับครูผู้สอนทุกคนเพื่อให้ครูผู้สอนดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์


วันอังคารที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2567

ความหมายของการพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์

 นักวิชาการและนักการศึกษาได้ให้ความหมายของการพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์ ดังนี้

Taba (1962, 454) กล่าวว่า การพัฒนาหลักสูตร หมายถึง การเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงหลักสูตรเดิมให้ได้ผลดียิ่งขึ้นทั้งในด้านการวางจุดมุ่งหมาย การจัดเนื้อหาวิชา การเรียนการสอน การวัดและการประเมินผลอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายอันใหม่ที่วางไว้ การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบหรือเปลี่ยนแปลงทั้งหมดทั้งจุดมุ่งหมายและวิธีการ และการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรนี้จะมีผลกระทบทางด้านความคิดและความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ส่วนการปรับปรุงหลักสูตร หมายถึง การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเพียงบางส่วนโดยไม่เปลี่ยนแปลงแนวความคิดพื้นฐานหรือรูปแบบของหลักสูตร

Good (1973, 157-158) กล่าวไว้ว่า การพัฒนาหลักสูตรเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงหลักสูตร การปรับปรุงหลักสูตรเป็นวิธีการพัฒนาหลักสูตรอย่างหนึ่ง เพื่อให้เหมาะสมกับโรงเรียนหรือระบบโรงเรียน จุดมุ่งหมายของการสอน วัสดุอุปกรณ์ วิธีสอน รวมทั้งการประเมินผล ส่วนคำว่า การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร หมายถึง การแก้ไขหลักสูตรให้แตกต่างไปจากเดิม เป็นการสร้างโอกาสทางการเรียนขึ้นใหม่

Saylor and Alexander (1974, 7) ได้ให้ความหมายของการพัฒนาหลักสูตรว่า การจัดทำหลักสูตรเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น หรือเป็นการจัดทำหลักสูตรใหม่โดยไม่มีหลักสูตรเดิมอยู่ก่อน การพัฒนาหลักสูตรอาหมายรวมถึงการสร้างเอกสารอื่นสำหรับนักเรียนด้วย

ฉวีวรรณ เศวตมาลย์ (2545, 26) กล่าวว่า การพัฒนาหลักสูตร คือ กระบวนการวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทุกประเภท เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงตามจุดประสงค์ที่กำหนด โดยมีการวางแผนประเมินผลเพื่อให้ทราบแน่ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียนนั้นบรรลุจุดประสงค์จริงหรือไม่

อัคครัตน์ พูลกระจ่าง (2552, 52) กล่าวว่า การพัฒนาหลักสูตร หมายถึง การสร้างหลักสูตรขึ้นมาใหม่ทั้งหมดโดยไม่มีหลักสูตรเก่าอยู่เลย หรือปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรเก่าที่มีอยู่ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี โดยมีลำดับขั้นตอนเริ่มจากการกำหนดจุดหมาย กำหนดวัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระ การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล รวมถึงการผลิตเอกสารต่าง ๆ สำหรับผู้เรียนด้วย

จากความหมายข้างต้น สามารถสรุปได้ว่า การพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรคณิตศาสตร์ทั้งหมดหรือการปรับปรุงหลักสูตรคณิตศาสตร์เพียงบางส่วน เพื่อให้หลักสูตรนั้นมีความทันสมัยและเหมาะสมกับผู้เรียน