หน้าเว็บ

วันพุธที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ทักษะการสอนคณิตศาสตร์

ในการสอนวิชาคณิตศาสตร์ในชั้นเรียนให้ประสบผลสำเร็จนั้น ครูผู้สอนจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับทักษะการสอนคณิตศาสตร์ และหมั่นฝึกฝนทักษะการสอนคณิตศาสตร์แบบต่าง ๆ ให้คล่องแคล่ว ชำนาญ จนสามารถใช้ทักษะต่าง ๆ ให้เข้ากับลีลา (style) การสอนของตนเองได้ ทักษะการสอนคณิตศาสตร์ที่สำคัญ มีดังนี้



1. ทักษะการนำเข้าสู่บทเรียน

     การนำเข้าสู่บทเรียนนั้นนับว่าเป็นปัญหาหนึ่งของครูผู้สอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาคณิตศาสตร์ที่ครูมักจะมองไม่เห็นภาพว่าจะนำนักเรียนเข้าสู่โลกของคณิตศาสตร์ที่เป็นนามธรรมได้อย่างไร นักการศึกษาของ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2549, 174-179) ได้กล่าวว่า การนำเข้าสู่บทเรียนเป็นการเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับการเรียนเนื้อหาใหม่ ความพร้อมในที่นี้มี 2 ลักษณะ คือ 1) ความพร้อมทางด้านความรู้สึก 2) ความพร้อมทางด้านพื้นฐานความรู้เดิมที่จำเป็นสำหรับเนื้อหาใหม่

    1) ความพร้อมทางด้านความรู้สึก 

        เป็นการเร้าความสนใจของนักเรียนให้รู้สึกว่าสิ่งที่กำลังจะเรียนนี้น่าสนใจ มีประโยชน์ น่ารู้ น่าตื่นเต้น ท้าทาย ลึกลับ หรือเพลิดเพลิน ซึ่งการจะเร้าความสนใจได้นั้นสิ่งเร้าต้องตรงกับวัยและความสนใจของนักเรียนเพื่อนำเข้าสู่บทเรียนให้นักเรียนตั้งใจเรียน กิจกรรมสำหรับเร้าความสนใจของนักเรียนมีหลายแบบ เช่น 

        1.1) การบรรยายเกี่ยวกับประวัติของนักคณิตศาสตร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่จะเรียน

        1.2) การบรรยายถึงประวัติศาสตร์หรือที่มาของเนื้อหาที่จะเรียน

        1.3) การบรรยายถึงประโยชน์ของเรื่องที่จะเรียน ซึ่งหากใช้ภาพหรือวีดีทัศน์ประกอบการบรรยายด้วยจะดีมาก

        1.4) การนำปัญหามาให้นักเรียนคิด โดยที่ครูอาจจะยังไม่เฉลยวิธีการหรือคำตอบก็ได้

        1.5) การเล่นเกม

     2) ความพร้อมทางด้านพื้นฐานความรู้เดิมที่จำเป็นสำหรับเนื้อหาใหม่

         เนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์นั้นเป็นเนื้อหาที่มีความต่อเนื่อง มีลำดับก่อนหลัง การที่นักเรียนจะเรียนรู้เนื้อหาใหม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องที่จำเป็นมาก่อน นักเรียนที่มีพื้นฐานความรู้ที่ไม่ดีจะทำให้ประสบความล้มเหลวในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ หากสะสมความรู้เช่นนี้ไว้มากจะทำให้นักเรียนมีเจตคติที่ไม่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ ครูจึงควรเตรียมพื้นความรู้เดิมให้กับนักเรียน โดยเฉพาะเรื่องที่เรียนผ่านมานานแล้วหรือเรื่องที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น การจัดกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมด้านพื้นฐานความรู้เดิม ครูต้องวิเคราะห์เนื้อหาใหม่ว่ามีมโนมติใด หรือมีความรู้ใดที่จำเป็นต่อการเรียนรู้เนื้อหาใหม่ เช่น การสอนเนื้อหาใหม่ เรื่องทฤษฎีบทปีทากอรัส นักเรียนจำเป็นต้องมีความรู้เดิมในเรื่อง รูปสามเหลี่ยมมุมฉาก การสร้างรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และการหาพื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นต้น


2. ทักษะการยกตัวอย่าง

     การยกตัวอย่างในวิชาคณิตศาสตร์นับเป็นอีกทักษะหนึ่งที่ครูคณิตศาสตร์ควรฝึกฝนให้เชี่ยวชาญเพราะจะทำให้นักเรียนเข้าใจในเนื้อหามากยิ่งขึ้น โดยบางเนื้อหานั้นใช้การยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายดีกว่าการบรรยายสูตรหรือทฤษฎีบทเพียงอย่างเดียว  สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2549, 304) ได้กล่าวว่า การยกตัวอย่างต้องอาศัยการฝึกฝน การเตรียมตัวล่วงหน้า และประสบการณ์เดิม เพราะขณะที่ครูกำลังดำเนินการสอนอยู่อย่างต่อเนื่องจะสามารถยกตัวอย่างได้ทันที ซึ่งการยกตัวอย่างจากหนังสือเรียนเพียงอย่างเดียวจะทำให้นักเรียนไม่สนใจเพราะนักเรียนคิดว่าอ่านจากหนังสือเรียนเองได้ หรือนักเรียนสามารถตอบคำถามครูอย่างถูกต้องด้วยความไม่เข้าใจเพราะตอบตามหนังสือเรียน การยกตัวอย่างต้องใช้ให้เหมาะสม ตรงตามความเป็นจริง เช่น คำตอบออกมาเป็นคน 1.5 คน เช่นนี้ไม่ควรใช้ และการยกตัวอย่างในเรื่องใกล้ตัวหรืออยู่ในชีวิตประจำวันจะทำให้นักเรียนเข้าใจและเชื่อมโยงการเรียนคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวันได้ ตัวอย่างที่น่าสนใจมีดังนี้

    1) การบวกลบเศษส่วน ครูต้อคำนึงถึงจำนวนที่เป็น “ส่วน” ของเศษแต่ละจำนวนให้เหมาะสม นักเรียนสามารถหา ค.ร.น. ได้ไม่ยากเกินไปนัก 

    2) การเขียนเซตแบบแจกแจงสมาชิก ครูควรยกตัวอย่าง “สมาชิกของเซต” ได้อย่างคล่องแคล่ว 

    3) การหาพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ครูอาจใช้กระดานหมากฮอสประกอบโดยเริ่มต้นจากหนึ่งตารางหน่วย แล้วค่อยเพิ่มพื้นที่ แล้วให้นักเรียนสังเกตตารางบนกระดานหมากฮอส

    4) การนำเสนอข้อมูล ในเนื้อหาทางสถิติ ครูอาจใช้ข้อมูลเกี่ยวกับ น้ำหนัก ส่วนสูง หรือข้อมูลอื่น ของนักเรียนในชั้นมาบันทึก แล้วจึงนำข้อมูลเหล่านั้นมาเขียนเป็นแผนภูมิชนิดต่าง ๆ


3. ทักษะการสร้างโจทย์ให้แปลกหรือตลกขบขัน

     การแก้โจทย์ปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์เป็นกระบวนการที่ต้องมีในทุกหัวข้อ หากครูไม่มีทักษะในการนำเสนอการแก้โจทย์ปัญหาที่น่าสนใจ หรือสร้างบรรยากาศที่เคร่งเครียดเกินไป อาจทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกไม่อยากเรียนเนื้อหานั้น สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2549, 306-310) กล่าวว่า การให้นักเรียนทำโจทย์ปัญหาแปลก ๆ นั้น เป็นการยั่วยุให้นักเรียนอยากคิด โดยโจทย์ที่ครูกำหนดให้อาจเป็นโจทย์เกี่ยวกับเนื้อหาในแบบเรียนโดยตรงหรือเนื้อหาเสริมก็ได้ โจทย์ที่ครูกำหนดขึ้นนี้ไม่ควรยากหรือซับซ้อนจนเกินไป และเหมาะกับวัยของนักเรียน ตัวอย่างโจทย์ที่น่าสนใจมีดังนี้

    1) โจทย์การแก้สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว เช่น นกเนื้ออยู่ในนา สามสิบเศียรร้อยบาทา จะมีกายาอย่างละกี่ตัว

    2) โจทย์ตรรกศาสตร์ เช่น กำหนดให้ข้อความต่อไปนี้เป็นจริง “นายโด่งเป็นคนขับรถเมล์ที่มีการศึกษาดี คนที่มีการศึกษาดีย่อมอ่านหนังสือออก และเขียนหนังสือได้ นายเด้งอ่านหนังสือออกแต่เขียนหนังสือไม่ได้” จงพิจารณาข้อความต่อไปนี้ ข้อใดเป็นจริง ข้อใดเป็นเท็จและข้อใดยังสรุปไม่ได้

       2.1) นายโด่งอ่านหนังสือออกและเขียนหนังสือได้

       2.2) นายเด้งเป็นคนขับรถยนต์

       2.3) คนที่มีการศึกษาดีทุกคนเป็นคนขับรถเมล์

       2.4) คนขับรถเมล์บางคนเขียนหนังสือไม่ได้

       2.5) ทุกคนที่อ่านหนังสือออกย่อมเขียนได้

    3) ในงานวัดแห่งหนึ่งมีการแสดงลิงปีนเสาเหล็กซึ่งทาน้ำมันหล่อลื่น เสาสูง 5 เมตร ปรากฏว่าเมื่อลิงปีนได้ 1 เมตร ลิงจะลื่นลงมาครึ่งเมตรทุกครั้งไป จงหาว่าลิงจะต้องปีนขึ้นกี่ครั้งจึงจะถึงยอดเสา


4. ทักษะการใช้สื่อประกอบการสอน

     การใช้สื่อหรือวัสดุประกอบการสอนในวิชาคณิตศาสตร์เป็นทักษะที่ครูคณิตศาสตร์ทุกคนต้องเรียนรู้ และรู้จักสร้างหรือประยุกต์วัสดุรอบตัวมาเป็นสื่อในการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอนคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษาที่ครูต้องมีความสามารถในการอธิบายเนื้อหาให้เป็นรูปธรรมได้ สื่อหรือวัสดุมีหลายประเภท เช่น วัสดุประเภทสิ่งตีพิมพ์ วัสดุประดิษฐ์ วัสดุถาวร และวัสดุสิ้นเปลือง ซึ่งครูไม่จำเป็นต้องลงมือทำเองทุกครั้งแต่อาจจะมอบหมายให้นักเรียนทำมาล่วงหน้าได้ ทั้งนี้ครูต้องศึกษารายละเอียดเนื้อหาและวางแผนให้รอบคอบก่อนจะมอบหมายงานให้นักเรียนจัดทำสื่อหรือนำวัสดุมาใช้ประกอบการเรียน


           5. ทักษะการใช้คำถาม
การใช้คำถามเป็นทักษะที่จำเป็นอีกทักษะหนึ่งที่ครูต้องใช้เพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจ และกระตุ้นการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในชั้นเรียน สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2549, 320) กล่าวว่า การตั้งคำถามที่ดีจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ตอบพัฒนาความคิดจนสามารถหาคำตอบและสรุปได้ ลักษณะของคำถามที่ดี มีดังนี้
1) เป็นคำถามที่ชัดเจน มีความหมายแน่นอน
2) ไม่ง่ายและไม่ยากจนเกินไป เหมาะสมกับเนื้อหานั้น ๆ และเหมาะสมกับวัยตลอดจนระดับชั้นของนักเรียน
3) ไม่เป็นคำถามซ้อนคำถาม ควรจะถามทีละประโยค เช่น บทนิยามของวงกลมกล่าวว่าอย่างไร หาพื้นที่ของวงกลมได้อย่างไร
4) ไม่ควรเป็นคำถามนำ เช่น 5% หมายความว่า 5 ใน 100 ใช่หรือไม่
5) ควรเป็นคำถามที่พัฒนาความคิด
การถามคำถามกับนักเรียนในชั้นเรียนครูผู้สอนควรเตรียมคำถามไว้ล่วงหน้าจำนวนหนึ่ง เพื่อให้การเลือกใช้คำถามสามารถทำได้อย่างทันท่วงที โดยการถามคำถามนั้นควรจะกระทำอย่างทั่วถึง ครูควรจัดคำถามในการถามเป็นกลุ่มและเป็นรายบุคคลสลับกันไปเพื่อดึงความสนใจให้กับนักเรียน และควรตั้งคำถามก่อนจึงเรียกชื่อนักเรียนเพราะหากเรียกชื่อนักเรียนก่อน นักเรียนที่ไม่ถูกเรียกชื่อจะไม่ตั้งใจฟังคำถามจากครูและคำตอบจากเพื่อนร่วมชั้น ในขณะที่นักเรียนตอบคำถามครูต้องตั้งใจฟังและแสดงการตอบรับคำตอบของนักเรียนในเชิงบวก 

ทักษะการสอนคณิตศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นทักษะเพียงเล็กน้อยที่ครูคณิตศาสตร์ต้องฝึกฝน ยังมีทักษะอื่น ๆ อีกหลายทักษะที่ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ในการฝึกฝน เช่น ทักษะการเล่าเรื่อง ทักษะการเขียนกระดาน ทักษะการเสริมแรง ทักษะการจัดกิจกรรมในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน ฯลฯ ซึ่งนักศึกษาสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือ ตำรา สื่อออนไลน์ และจากการสอบถามครู ผู้รู้ และจากประสบการณ์ของตนเอง ทักษะที่เกิดขึ้นกับครูคณิตศาสตร์จะเป็นทักษะเฉพาะบุคคลที่จะถูกกลั่นกรองมาจากความรู้และประสบการณ์ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ทักษะการสอนคณิตศาสตร์เป็นทักษะที่ดีเลิศสำหรับเราได้คือ การไม่ย่อท้อในการพัฒนาตนเอง

อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น