หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

การนำหลักสูตรไปใช้

เมื่อการพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์ดำเนินการครบกระบวนการในการพัฒนา ลำดับต่อไปคือการนำหลักสูตรนั้นมาใช้ในทุกระดับชั้นตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของหลักสูตรคณิตศาสตร์ที่ได้พัฒนาขึ้น กระบวนการการนำหลักสูตรไปใช้นี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการพัฒนาหลักสูตร ต้องมีการวางแผน ทำความเข้าใจ ดำเนินการและทีสำคัญคือ ควรมีการทดลองใช้หลักสูตรที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อทำการศึกษาและประเมินผลก่อนนำหลักสูตรไปเผยแพร่ทั่วประเทศหรือใช้กับกลุ่มเป้าหมาย 

ความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้

การนำหลักสูตรไปใช้มีนักการศึกษาจำนวนหนึ่งให้ความหมายไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

Beauchamp (1981, 164) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึง การนำหลักสูตรไปปฏิบัติ โดยประกอบด้วยกระบวนการที่สำคัญที่สุด คือ การแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน การจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้ครูได้มีการพัฒนาการเรียนการสอน

APEID (1977, 3) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้มีความหมายครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตรไปจนถึงการอบรมครูผู้สอนให้เป็นผู้มีสมรรถนะที่จำเป็น พร้อมที่จะนำหลักสูตรไปใช้ให้ได้ผลตามที่เป้าหมายกำหนดไว้

บุญเลี้ยง ทุมทอง (2553, 263) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึง การดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ ในอันที่จะทำให้หลักสูตรที่สร้างขึ้นดำเนินไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นับแต่การเตรียมบุคลากร อาคาร สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ สภาพแวดล้อม และการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน

อัคครัตน์ พูลกระจ่าง (2552, 122) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึง ขั้นตอนในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นมีความสมบูรณ์ ทำให้หลักสูตรสามารถนำไปใช้ปฏิบัติจริงในการศึกษาได้ต่อไป องค์ประกอบของการนำหลักสูตรไปใช้มี 3 ประการ คือ ขั้นเตรียมการ ขั้นดำเนินการใช้ และขั้นประเมินผล

จากความหมายของนักการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้นสามารถสรุปความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้ได้ว่า การนำหลักสูตรไปใช้ คือ กระบวนการนำหลักสูตรลงสู่การปฏิบัติเพื่อให้กระบวนการพัฒนาหลักสูตรมีความสมบูรณ์ นำไปใช้ได้จริงตามเป้าหมายที่กำหนด โดยมีองค์ประกอบของการนำหลักสูตรไปใช้ทุกมิติ ทั้งบุคลากร อาคาร วัสดุ และการจัดการเรียนการสอน


วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ผลที่ได้จากการพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์

 ผู้เรียนคืออนาคตสำคัญของชาติ ทุกประเทศทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถ และเป็นคนดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ครอบครัวและสถาบันการศึกษาต้องร่วมมือกัน การกำหนดทิศทางในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนล้วนถูกออกแบบผ่านการพัฒนาหลักสูตรในแต่ละยุคสมัย คณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานของทุกรายวิชาและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ผลที่ได้จากการพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์มีดังนี้

  1. เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งประเทศ
  2. มีมาตรฐานในการวัดและประเมินผู้เรียนในวิชาคณิตศาสตร์
  3. เป็นการพัฒนาระบบการศึกษาให้ทันสมัย
  4. ครูผู้สอนคณิตศาสตร์มีความรู้ความเข้าใจและปรับปรุงวิธีการสอนให้ทันสมัย
  5. ยกระดับการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนานักเรียนรอบด้าน