หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2566

จำนวนและการดำเนินการ

ความหมายของจำนวนและการดำเนินการ

จำนวนและการดำเนินการเป็นการนำเอาคำศัพท์ทางคณิตศาสตร์ที่สำคัญสองคำมาไว้ด้วยกันคือคำว่า “จำนวน” และ “การดำเนินการ” ซึ่งทั้งสองคำนี้ถือว่าเป็นคำที่สำคัญมากสำหรับการเรียนการสอนในวิชาคณิตศาสตร์ มีนักวิชาการได้ให้ความหมายไว้ ดังนี้

ราชบัณฑิตยสถาน (2556) ให้ความหมายของคำว่าจำนวน ไว้ว่า จำนวน หมายถึง ยอดรวมที่กำหนดนับไว้เป็นส่วน ๆ

แมกโดนอลด์ ชารอน (MacDonald, Sharon. 2007: 19) ให้ความหมายของคำว่าจำนวน ไว้ว่า จำนวน (Number) หมายถึง สัญลักษณ์แทนหน่วยของสิ่งของตั้งแต่ 1 อย่างถึงหลายอย่าง หรือในอีกแง่หนึ่งจำนวนสามารถเขียนแสดงได้ด้วยตัวเลข ซึ่งเป็นการใช้สัญลักษณ์แทนจำนวน เช่น มีคน 11 คนอยู่บนเกาะ (“11” ในที่นี้คือตัวเลข) เมื่อเขียนสัญลักษณ์ด้วยตัวเลข เราจะเรียกว่า “จำนวน” เช่น 11 คือ จำนวนของคนที่อยู่บนเกาะ

จากความหมายดังกล่าวข้างต้น สามารถสรุปได้ว่า จำนวน หมายถึง สัญลักษณ์ที่เขียนแสดงด้วยตัวเลขเพื่อแทนปริมาณต่าง ๆ

กระทรวงศึกษาธิการ (2552: 43) กล่าวถึงความหมายของการดำเนินการไว้ว่า การดำเนินการในที่นี้จะหมายถึงการดำเนินการของจำนวนและการดำเนินการของเซต ซึ่งการดำเนินการของจำนวนในที่นี้ได้แก่ การบวก การลบ การคูณ การหาร การยกกำลัง และการถอดรากของจำนวนที่กำหนด การดำเนินการของเซตในที่นี้ได้แก่ ยูเนียน อินเตอร์เซกชัน และคอมพลีเมนต์ของเซต

มีซุน คัง (Meesun,Kang. 2553: 28) กล่าวว่า การดำเนินการ หมายถึง การคำนวณตามสัญลักษณ์ซึ่งบ่งชี้การดำเนินการ โดยในการดำเนินการนั้นจะใช้สัญลักษณ์ในการดำเนินการ สัญลักษณ์ที่รู้จักกันดีคือ เครื่องหมายบวก (+) , เครื่องหมายลบ (-) , เครื่องหมายคูณ (x) , เครื่องหมายหาร (÷) สัญลักษณ์ที่บ่งชี้การดำเนินการสามารถสร้างคุณสมบัติใหม่ขึ้นมาได้ เช่น a ★b = จำนวนที่มีค่ามากกว่าในจำนวนสองจำนวน ดังนั้น 3 ★ 4 = 4 , 2 ★ 0 = 2

จากความหมายดังกล่าวข้างต้น สามารถสรุปความหมายของการดำเนินการได้ว่า การดำเนินการ หมายถึง การคำนวณโดยการบวก ลบ คูณ หาร หรือการคำนวณโดยใช้เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์อื่น ๆ เพื่อหาผลลัพธ์ที่ต้องการ


แนวคิดสำคัญของจำนวนและการดำเนินการ

การจัดการเรียนการสอนในสาระจำนวนและการดำเนินการทั้ง 4 มาตรฐาน 55 ตัวชี้วัดนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เรียงลำดับสาระแกนกลางไว้อย่างเป็นระบบ โดยครูมีตัวช่วยที่สำคัญคือหนังสือเรียนของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้การจัดการเรียนการสอนในสาระจำนวนและการดำเนินการนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้นักเรียนสามารถเรียนคณิตศาสตร์ในเนื้อหาต่าง ๆ อย่างเข้าใจและสามารถคำนวณโดยใช้การดำเนินการอย่างถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลไปยังทัศนคติเชิงบวกต่อรายวิชาด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่านักเรียนส่วนใหญ่มักจะชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษาตอนต้น แต่เมื่อเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นนักเรียนที่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์กลับน้อยลงเป็นอย่างมาก อาจเพราะเนื้อหาที่ยากขึ้น ซับซ้อนขึ้น ซึ่งถือเป็นธรรมชาติของรายวิชา และอีกปัญหาหนึ่งที่พบคือ ครูคณิตศาสตร์มักจะเข้มงวดกับขั้นตอนและวิธรการที่ตายตัว ไม่ยืดหยุ่น นักเรียนต้องทำตามกระบวนการที่ครูสอนจากหนังสือเรียนหรือในชั้นเรียนเท่านั้น ขณะที่ครูสอนหรือขณะที่นักเรียนทำกิจกรรม แบบฝึกทักษะ หรือใบงานครูมักจะสั่งให้นั่งเงียบ ๆ ฟัง จดบันทึก ทำแบบฝึกหัด และวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่นักเรียนต้องทำการบ้านเป็นจำนวนมาก 

แนวคิดสำคัญในการสอนสาระจำนวนและการดำเนินการ คือ การสอนให้นักเรียนมีความรู้สึกเชิงจำนวน (Number Sense) กระทรวงศึกษาธิการ (2552: 44)  กล่าวว่า ความรู้สึกเชิงจำนวนเป็นสามัญสำนึกและความเข้าใจเกี่ยวกับจำนวนที่อาจพิจารณาในด้านต่าง ๆ เช่น เข้าใจความหมายของจำนวนที่ใช้บอกปริมาณ (เช่น ดินสอ 5 แท่ง) และใช้บอกอันดับที่ (เช่น วิ่งเข้าเส้นชัยเป็นที่ 5) เข้าใจความสัมพันธ์ที่หลากหลายของจำนวนใด ๆ กับจำนวนอื่น ๆ เช่น 8 มากกว่า 7 อยู่ 1 แต่น้อยกว่า 10 อยู่ 2 เข้าใจเกี่ยวกับขนาดของจำนวนใด ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนอื่น เช่น 8 ใกล้เคียงกับ 4 แต่ 8 น้อยกว่า 100 มาก เข้าใจผลที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินการของจำนวน เช่น คำตอบของ 65 + 42 ควรมากกว่า 100 เพราะว่า 65 > 60, 42 > 40 และ 60 + 40 = 100 ใช้เกณฑ์จากประสบการณ์ในการเทียบเคียงถึงความสมเหตุสมผลของจำนวน เช่น การรายงานว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 คนหนึ่งสูง 250 เซนติเมตรนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ 

        ความรู้สึกเชิงจำนวนจึงถือว่าเป็นคุณลักษณะที่ดีและมีประโยชน์ต่อการเรียนในสาระจำนวนและการดำเนินการ ซึ่งครูสามารถพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้โดยจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยผู้เรียนที่มีความรู้สึกเชิงจำนวนดีจะเป็นผู้ที่สามารถตระหนักถึงความสมเหตุสมผลของคำตอบที่ได้จากการคำนวณและการแก้ปัญหาได้ดี รวมไปถึงการมีทักษะการคำนวณที่รวดเร็ว เป็นระบบ และถูกต้องอีกด้วย

อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2566

แบบฝึกหัด เรื่อง แผนการจัดการเรียนรู้

 โปรดอ่านข้อคำถาม แล้วทำเครื่องหมาย (X) ลงหน้าตัวเลือกที่ถูกต้อง

1. ขั้นตอนแรกในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้คืออะไร

ก. ศึกษาหลักสูตรสถานศึกษา ข. ศึกษาเนื้อหาที่จะสอน

ค. กำหนดหัวข้อที่จะสอน ง. กำหนดระยะเวลาที่จะสอน


2. หัวข้อใดในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ที่ครูผู้สอนไม่สามารถเขียนได้ด้วยตนเอง

ก. หัวแผน ข. มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด

ค. จุดประสงค์การเรียนรู้ ง. กิจกรรมการเรียนรู้


3. ข้อใดกล่าวถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้

ก. ไม่จำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบแผนเพราะไม่ใช่การทำวิจัย

ข. ไม่จำเป็นต้องเขียนแผนอย่างละเอียด เพราะครูผู้เขียนแผนรู้อยู่แล้วว่าจะสอนอย่างไร

ค. ครูผู้สอนต้องบันทึกคะแนนในแผนทุกครั้งแม้ว่าจะมีเอกสารบันทึกคะแนนของโรงเรียนอยู่แล้ว

ง. ครูผู้สอนต้องนำแผนไปทดลองใช้ก่อนจึงส่งผู้บริหารโรงเรียน


4. ข้อใดคือสิ่งที่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 กำหนดเป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียน 

ก. ตัวบ่งชี้         ข. สาระการเรียนรู้ 

ค. มาตรฐานการเรียนรู้ ง การวัดและประเมินผลการเรียนรู้


5. สาระการเรียนรู้เรื่อง อัตราส่วน ร้อยละอยู่ในสาระใดในหลักสูตรฯคณิตศาสตร์

ก. สาระที่ 1 จำนวนและการดำเนินการ ข. สาระที่ 2 การวัด

ค. สาระที่ 3 เรขาคณิต         ง. สาระที่ 4 พีชคณิต


6. ตัวชี้วัด “ค1.1 ม.1/2” มีความหมายตรงกับข้อใด 

ก. กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สาระที่ 1 มาตรฐานข้อที่ 2 ตัวชี้วัดชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ข้อ 1

ข. กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สาระที่ 2 มาตรฐานข้อที่ 1 ตัวชี้วัดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ข้อ 2 

ค. กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สาระที่ 1 มาตรฐานข้อที่ 2 ตัวชี้วัดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ข้อ 1 

ง. กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สาระที่ 1 มาตรฐานข้อที่ 1 ตัวชี้วัดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ข้อ 2


7. ข้อสอบต่อไปนี้เป็นการวัดตามจุดประสงค์ข้อใด “จงระบายสีเพื่อแสดงจำนวนห้า”

  ก. ทักษะการคิดคำนวณ ข. ความรู้ความเข้าใจ 

  ค. ทักษะการปฏิบัติ ง. การนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน


8. ข้อใดที่ไม่ใช่ลักษณะของจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม 

ก. บวกลบเลขคู่และเลขคี่ได้                ข. อธิบายได้ว่าเลขคู่และเลขคี่ต่างกันอย่างไร 

ค. ทำแบบฝึกหัดว่าด้วยเรื่องเลขคู่และเลขคี่ได้ ง. เข้าใจในความแตกต่างของเลขคู่และเลขคี่


9. ข้อใดแสดงถึงการประเมินตามสภาพจริงของผู้เรียนด้านการวิเคราะห์

ก. บอกบทนิยาม,ทฤษฎีบท และข้อตกลงต่างๆ ข. อธิบายและยกตัวอย่างประกอบ

ค. แยกแนวคิดที่ซับซ้อนออกเป็นส่วนๆ         ง. รวบรวมความรู้ ข้อเท็จจริง และลงข้อสรุป


10. สาระการเรียนรู้ประกอบด้วย  

ก. องค์ความรู้                 ข. ทักษะหรือกระบวนการเรียนรู้ 

ค. คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ง. ทุกข้อ


11. ข้อใดกล่าวถูกต้องเกี่ยวกับความหมายของสาระสำคัญ

ก. สาระสำคัญเป็นการกล่าวถึงเนื้อหาสาระที่ใช้สอนอย่างละเอียด

ข. สาระสำคัญต้องสอดคล้องกับมาตรฐาน/ตัวชี้วัด

ค. สาระสำคัญต้องเขียนเป็นรายข้อเท่านั้น

ง. สาระสำคัญควรอ้างอิงจากหนังสือเรียนของ สสวท.


12. สาระที่ครูต้องสอดแทรกในกระบวนการจัดการเรียนรู้ทุกหน่วยการเรียนรู้ในการสอนวิชาคณิตศาสตร์คือข้อใด

ก. จำนวนและการดำเนินการ ข. เรขาคณิต

ค. การวัด                 ง. ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์


13. สิ่งสำคัญที่สุดที่ครูคณิตศาสตร์ต้องคำนึงถึงในขั้นดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้คือข้อใด

ก. ความรู้พื้นฐานของนักเรียน ข. ความต้องการของผู้เรียน

ค. ความถนัดของผู้เรียน         ง. ความพร้อมของผู้เรียน


14. ครูสุพรรณิการ์สาธิตประกอบการใช้คำถามเพื่อสรุปเกี่ยวกับการหาปริมาตรของพีระมิด ครูสุพรรณิการ์จัดการเรียนรู้แบบใด

ก. การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง

ข. การเรียนรู้จากการใช้คำถามประกอบการอธิบายและแสดงเหตุผล

ค. การเรียนรู้จากการศึกษาค้นคว้า

ง. การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้


15. จิ๋วเรียนเก่งมาก ครูจะจัดกิจกรรมอย่างไรจึงจะเป็นการจัดการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

  ก. ให้จิ๋วช่วยเพื่อนทำแบบฝึกหัด

        ข. ให้จิ๋วทำงานอื่นได้ในขณะเรียน

  ค. ให้จิ๋วเรียนเสริมและให้การบ้านยากกว่าเพื่อนๆ 

        ง. ให้จิ๋วพยายามปรับตัวให้เรียนได้เช่นเดียวกับกลุ่ม


16. สื่อการเรียนรู้ในข้อใดที่ไม่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน

ก. เอกสารประกอบการเรียน ข. กระดาษกราฟ

ค. ชุดการเรียน ง. เอกสารแนะแนวทาง


17. การจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์จำเป็นต้องใช้สื่อการเรียนรู้ประกอบ ท่านมีแนวคิดในการเลือกใช้สื่อการเรียนรู้อย่างไร

ก. ราคาถูก/หาได้ง่ายในท้องถิ่น

ข. มีสีสันสวยงาม/ดึงดูดความสนใจ

ค. สำเร็จรูป/ทันสมัย/ดึงดูดความสนใจ

ง. หาได้ง่ายในท้องถิ่น/สอดคล้องกับสาระการเรียนรู้


18. ข้อสอบวัดผลสัมฤทธิ์มุ่งวัดอะไร 

ก. พฤติกรรม                 ข. ตัดสินการเลื่อนชั้น 

ค. ความก้าวหน้าของการเรียนรู้ ง. การแข่งขันว่าใครเรียนเก่ง


19. ใช้สถานการณ์ต่อไปนี้ตอบคำถาม ครูปฐมพงศ์กำหนดเกณฑ์การให้คะแนนผลงานของนักเรียน เรื่องแผนผังและมาตราส่วน ดังนี้

1. มีแผนผังแสดงรายละเอียดครบถ้วน แต่มาตราส่วนไม่ถูกต้อง

2. มีแผนผังแสดงรายละเอียดไม่ครบถ้วน แต่ใช้มาตราส่วนถูกต้อง

3. มีแผนผังแสดงรายละเอียดครบถ้วน และใช้มาตราส่วนถูกต้อง

4. มีแผนผังแสดงรายละเอียดไม่ครบถ้วน และมาตราส่วนไม่ถูกต้อง


ข้อใดเรียงลำดับคุณภาพของผลงานจากระดับสูงสุดมาถึงระดับต่ำสุดได้อย่างเหมาะสม

ก. 3 2 4 1 ข. 3 2 1 4

ค. 3 1 2 4 ง. 3 1 4 2


20. เครื่องมือวัดผลทาคณิตศาสตร์ในข้อใดไม่จำเป็นต้องมีเกณฑ์แบบรูบริค

ก. แบบประเมินพฤติกรรมกลุ่ม ข. ข้อสอบแบบเลือกตอบ

ค. แผนผังความคิด                 ง. โครงงาน


21. ข้อใดครอบคลุมลักษณะที่ดีของเกณฑ์การประเมิน 

ก. มีความชัดเจน กระชับ เข้าใจง่าย

ข. มีความชัดเจน เข้าใจง่าย สังเกตได้ 

ค. ระบุพฤติกรรมที่ชัดเจน กระชับ เข้าใจง่าย

ง. ระบุพฤติกรรมที่สังเกตได้ชัดเจน กระชับ เข้าใจง่าย


22. ข้อใดกล่าวถูกต้อง

ก. ครูผู้สอนควรเขียนบันทึกท้ายแผนตามคำแนะนำของผู้บริหารโรงเรียน

ข. ครูผู้สอนควรระบุปัญหาส่วนตัวที่เกิดขึ้นไว้ที่บันทึกท้ายแผนเพื่อจะได้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น

ค. ครูผู้สอนควรบันทึกวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในบันทึกท้ายแผนการจัดการเรียนรู้

ง. ครูผู้สอนควรบันทึกทุกแผนแม้จะไม่ได้ใช้แผนนั้นสอน


23. ข้อใดกล่าวผิด

ก. ครูผู้สอนไม่ควรแนบเฉลยไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้

ข. ครูผู้สอนควรแนบเกณฑ์การให้คะแนนในท้ายแผนการจัดการเรียนรู้

ค. ครูผู้สอนสามารถใช้เกณฑ์การให้คะแนนซ้ำกับแผนอื่น ๆ ได้

ง. หากเป็นกิจกรรมกลุ่ม ครูผู้สอนไม่จำเป็นต้องแนบใบกิจกรรมไว้ท้ายแผน


24. สิ่งใดที่ไม่ต้องแนบในภาคผนวกท้ายแผน

ก. รายชื่อผู้เชี่ยวชาญ ข. ใบงาน/ใบกิจกรรม

ค. เกณฑ์การให้คะแนน ง. ใบคำถาม


วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2566

การบันทึกผลหลังการจัดการเรียนรู้

การเขียนบันทึกผลหลังการจัดการเรียนรู้ ให้เขียนบอกรายละเอียดของผลการจัดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนดไว้  คือบอกจำนวนผู้เรียนที่มีพฤติกรรมด้านความรู้  ทักษะ  กระบวนการและคุณธรรม  ค่านิยม  โดยให้บอกในเชิงปริมาณและคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด ในส่วนของปัญหาและอุปสรรค  ให้เขียนบอกรายละเอียดของปัญหา  อุปสรรคที่พบระหว่างจัดกระบวนการเรียนรู้ หรือปัญหา อุปสรรคที่ทำให้การจัดการเรียนรู้ไม่ประสบผลสำเร็จ  ตลอดจนข้อค้นพบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเรียนการสอน ในส่วนของแนวทางแก้ไข ให้เขียนบอกรายละเอียดของแนวทางแก้ไขที่นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาที่ระบุไว้ข้างต้น โดยบอกถึงวิธีการ  หรือเครื่องมือที่เลือกใช้ในการแก้ปัญหา ครูควรเขียนสะท้อนผลการเรียนรู้ โดยเขียนบอกรายละเอียดของบรรยากาศในห้องเรียน  ความสนุกสนาน ความร่วมมือในกิจกรรม  ความกระตือรือร้น  ความประทับใจ  หรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนครั้งต่อไปดีขึ้น

อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2566

การวัดและประเมินผล

 การวัดและประเมินผล เป็นการตรวจสอบผู้เรียนว่าเกิดการเรียนรู้ตามที่กำหนดในจุดประสงค์หรือไม่  เป็นการรวบรวมข้อมูลโดยใช้เครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาประเมินผล  มีแนวการเขียน คือ ระบุวิธีการวัดและประเมินผลให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ ระบุเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินผล ระบุเกณฑ์การประเมินผลที่ชัดเจน ระบุเวลาของการวัดผล (ก่อนเรียน  ระหว่างเรียน  หลังเรียนและระบุเนื้อหาที่ต้องวัดให้ชัดเจน

บันทึกผลหลังการจัดการเรียนรู้ ให้เขียนบอกรายละเอียดของผลการจัดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนดไว้  คือบอกจำนวนผู้เรียนที่มีพฤติกรรมด้านความรู้  ทักษะ  กระบวนการและคุณธรรม  ค่านิยม  โดยให้บอกในเชิงปริมาณและคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด ในส่วนของปัญหาและอุปสรรค  ให้เขียนบอกรายละเอียดของปัญหา  อุปสรรคที่พบระหว่างจัดกระบวนการเรียนรู้ หรือปัญหา อุปสรรคที่ทำให้การจัดการเรียนรู้ไม่ประสบผลสำเร็จ  ตลอดจนข้อค้นพบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเรียนการสอน ในส่วนของแนวทางแก้ไข ให้เขียนบอกรายละเอียดของแนวทางแก้ไขที่นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาที่ระบุไว้ข้างต้น โดยบอกถึงวิธีการ  หรือเครื่องมือที่เลือกใช้ในการแก้ปัญหา ครูควรเขียนสะท้อนผลการเรียนรู้ โดยเขียนบอกรายละเอียดของบรรยากาศในห้องเรียน  ความสนุกสนาน ความร่วมมือในกิจกรรม  ความกระตือรือร้น  ความประทับใจ  หรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนครั้งต่อไปดีขึ้น


อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ชิ้นงาน/ภาระงาน

 ชิ้นงาน/ภาระงาน อาจเป็นสิ่งที่ผู้สอนกำหนดให้ หรือผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันกำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ ชิ้นงานหรือภาระงานต้องแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในการเรียนรู้ของผู้เรียน ได้ใช้ความรู้ที่ลึกซึ้ง ใช้ทักษะ/กระบวนการคิดชั้นสูง และเป็นร่องรอยหลักฐานแสดงว่ามีความรู้และทักษะถึงตัวชี้วัดชั้นปีที่กำหนดไว้ในหน่วยการเรียนรู้นั้น ตัวอย่างชิ้นงานหรือภาระงาน เช่น

a. งานเขียน : เรียงความ จดหมาย โคลงกลอน การบรรยาย การเขียนตอบ ฯลฯ

b. ภาพ / แผนภูมิ : แผนผัง แผนภูมิ ภาพวาด กราฟ ตาราง ฯลฯ

c. การพูด / รายงานปากเปล่า : การอ่าน กล่าวรายงาน โต้วาที ร้องเพลง สัมภาษณ์ ฯลฯ

d. สิ่งประดิษฐ์ : งานประดิษฐ์ งานแสดงนิทรรศการ หุ่นจำลอง ฯลฯ

e. งานที่มีลักษณะผสมผสานกัน : การทดลอง การสาธิต ละคร วีดีทัศน์ ฯลฯ

อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

วันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2566

สื่อ/แหล่งการเรียนรู้

สื่อ/แหล่งการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือส่งเสริมสนับสนุนการจัดการกระบวนการเรียนรู้  ให้ผู้เรียนเข้าถึงความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะตามมาตรฐานของหลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อการเรียนรู้มีหลากหลายประเภท ทั้งสื่อธรรมชาติ  สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อเทคโนโลยี และเครือข่ายการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มีในท้องถิ่น การเลือกใช้สื่อควรเลือกให้มีความเหมาะสมกับระดับพัฒนาการ และลีลาการเรียนรู้ที่หลากหลายของผู้เรียน (กระทรวงศึกษาธิการ, 2552: 22) การจัดหาสื่อการเรียนรู้ ผู้เรียนและผู้สอนสามารถจัดทำและพัฒนาขึ้นเอง  หรือปรับปรุงเลือกใช้อย่างมีคุณภาพจากสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัวเพื่อนำมาใช้ประกอบในการจัดการเรียนรู้ ในการจัดทำ การเลือกใช้ และการประเมินคุณภาพสื่อการเรียนรู้ที่ใช้ในสถานศึกษาควรคำนึงถึงหลักการสำคัญของสื่อการเรียนรู้ เช่น ความสอดคล้องกับหลักสูตร  วัตถุประสงค์การเรียนรู้  การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้  การจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียน เนื้อหามีความถูกต้องและทันสมัย ไม่กระทบความมั่นคงของชาติ ไม่ขัดต่อศีลธรรม  มีการใช้ภาษาที่ถูกต้อง  รูปแบบการนำเสนอที่เข้าใจง่าย  และน่าสนใจ สื่อการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้  เป็นสิ่งช่วยเสริมให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพและประสบ  ผลสำเร็จยิ่งขึ้น  การเขียน (กำหนด) สื่อ/แหล่งเรียนรู้  ควรพิจารณาดังนี้

    a.  เขียน (กำหนด) สื่อ/แหล่งเรียนรู้ให้สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้

    b. ระบุสื่อ/แหล่งเรียนรู้ที่ใช้จริงในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

    c. เป็นสื่อ/แหล่งเรียนรู้ที่ช่วยเสริมให้การเรียนรู้ดีขึ้น

    d. ไม่ควรระบุสื่อที่มีอยู่แล้วอย่างถาวรในห้องเรียน เช่น กระดานดำ หนังสือ 

อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ความหมายของคำว่า "สาระการเรียนรู้" และคำว่า "กิจกรรมการเรียนรู้"

สาระการเรียนรู้ ตรงกับคำภาษาอังกฤษ คือ Content หมายถึง เนื้อหาสาระในการจัดการเรียนการสอนในคาบเรียนนั้น โดยเขียนให้สอดคล้องและสัมพันธ์กับสาระ/มาตรฐาน/ตัวชี้วัด ที่ระบุไว้ในแผนนั้นด้วย สามารถเขียนได้ทั้งแบบความเรียงและแบบรายข้อ หลักในการเขียนสาระการเรียนรู้ในแผนการจัดการเรียนรู้ คือ เขียนให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ กระชับ แต่ไม่ตัดเนื้อหาจนผู้อื่นไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่ครูเขียนไว้ได้ เขียนให้เหมาะกับเวลา และวัยของผู้เรียน ทั้งนี้ให้ยึดหนังสือเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นสำคัญ ไม่ควรเขียนโดยเน้นสูตรลัดหรือวิธีการที่เน้นความจำเพียงอย่างเดียว หากเนื้อหามีมากครูสามารถจัดทำเป็นใบความรู้แนบในภาคผนวกท้ายแผนการจัดการเรียนรู้ หรือแทรกความรู้หรือตัวอย่างในกิจกรรมการเรียนรู้ได้

กิจกรรมการเรียนรู้ คือ รายละเอียดของขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้  ซึ่งจะระบุบทบาทของผู้สอนและผู้เรียนที่สอดคล้องกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้หรือเทคนิควิธีสอนที่เลือกนำมาใช้ในแผนการจัดการเรียนรู้  โดยต้องเขียนวิธีสอนให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ สาระสำคัญ และสาระการเรียนรู้ เขียนแจกแจงรายละเอียดกิจกรรมที่ดำเนินการทั้งหมดตามกำหนดเวลาในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้ โดยทั่วไปมักเขียนเป็นลำดับขั้นของกิจกรรม คือ ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน  ขั้นสอนหรือขั้นการเรียนรู้  และขั้นสรุป แต่หากไม่เขียนเป็นลำดับขั้น คือ ไม่ระบุขั้นนำ  ขั้นสอน  ขั้นสรุป อาจเขียนเป็นรายข้อตามลำดับกิจกรรมที่ดำเนินการก็ได้  แต่ต้องแสดงกระบวนการสอนที่เป็นระบบ  น่าเชื่อถือ มองเห็นกระบวนการดำเนินกิจกรรมอย่างชัดเจน นอกจากนั้น ครูยังสามารถเขียนกิจกรรมการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนรู้หรือเทคนิคการสอนที่ครูสนใจ เช่น


                    a. วิธีการสอนตามคู่มือ สสวท.

                              1. ขั้นนำ ทบทวนความรู้เดิม

                              2. ขั้นสอน สอนเนื้อหาใหม่

                              3. ขั้นสรุป สรุปเป็นวิธีลัดหรือความคิดรวบยอด

                              4. ขั้นฝึกทักษะ ทำแบบฝึกหัด ใบงาน

                              5. ขั้นประเมินผล

 

                    b. วิธีสอนตามหลักของโพลยา

                              1. ทำความเข้าใจปัญหา

                              2. วางแผนในการแก้ปัญหา

                              3. ลงมือทำตามแผน

                              4. ตรวจวิธีการและคำตอบ


                    c. รูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ 5E

                              1. ขั้นสร้างความสนใจ (Engagement)

                              2. ขั้นสำรวจและค้นหา (Exploration)

                              3. ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป (Explanation)

                              4.  ขั้นขยายความรู้ (Elaboration)

                              5. ขั้นประเมิน (Evaluation)


อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2566

การเขียนจุดประสงค์ด้านจิตพิสัย (Affective Domain)

จิตพิสัย (Affective Domain) คือ พฤติกรรมที่เกี่ยวกับค่านิยม ความรู้สึก ความซาบซึ้ง ทัศนคติ ความเชื่อ ความสนใจและคุณธรรม ซึ่งพฤติกรรมในด้านนี้อาจไม่เกิดขึ้นในทันที ดังนั้น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และสอดแทรกสิ่งที่ดีงามอยู่ตลอดเวลา จะทำให้พฤติกรรมของผู้เรียนเปลี่ยนไปในแนวทางที่พึงประสงค์ได้ ซึ่งบลูมได้แบ่งลำดับขั้นของพฤติกรรมออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่

1. รับรู้ (Receive) คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อปรากฏการณ์หรือสิ่งเร้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการแปลความหมายของสิ่งเร้านั้นว่าคืออะไร แล้วแสดงออกมาในรูปของความรู้สึกที่เกิดขึ้น

2. ตอบสนอง (Respond) คือ การกระทำที่แสดงออกมาในรูปของความเต็มใจ ยินยอมและพอใจต่อสิ่งเร้านั้นซึ่งเป็นการตอบสนองที่เกิดจากการคัดสรรแล้ว

3. เห็นคุณค่า (Value) คือ การเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เป็นที่ยอมรับกันในสังคม โดยการยอมรับนับถือในคุณค่านั้น ๆ หรือปฏิบัติตามในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนกลายเป็นความเชื่อ แล้วจึงเกิดทัศนคติที่ดีในสิ่งนั้น

4. จัดระบบคุณค่า (Organize) คือ การสร้างแนวคิดหรือการจัดระบบของค่านิยมที่เกิดขึ้นโดยอาศัยความสัมพันธ์ ถ้าเข้ากันได้ก็จะยึดต่อไปแต่ถ้าขัดกันอาจไม่ยอมรับอาจจะยอมรับค่านิยมใหม่โดยยกเลิกค่านิยมเก่า

5. พัฒนาเป็นลักษณะนิสัย (Characterize) คือ การนำค่านิยมที่ยึดถือมาแสดงพฤติกรรมที่เป็นนิสัยประจำตัว เน้นให้ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงาม พฤติกรรมด้านนี้จะเกี่ยวกับความรู้สึกและจิตใจ ซึ่งจะเริ่มจากการได้รับรู้จากสิ่งแวดล้อม แล้วจึงเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ ขยายกลายเป็นความรู้สึกด้านต่าง ๆ จนกลายเป็นค่านิยมและยังพัฒนาต่อไปเป็นความคิด อุดมคติ ซึ่งจะควบคุมทิศทางของพฤติกรรมของแต่ละคนด้วย


ตารางที่ 6.7 แสดงคำกริยาสะท้อนพฤติกรรมด้านจิตพิสัย


ลำดับขั้นของพฤติกรรม

คำกริยาที่สะท้อนพฤติกรรมด้านจิตพิสัย

รับรู้

(Receive)

ฟัง สังเกต ดู สนใจ ถาม เลือก อธิบาย ทำตาม ให้ ถือ ชี้ ใช้ ตอบ ยอมรับ ระวัง ตั้งใจ ฟังคนอื่นพูด

ตอบสนอง

(Respond)

เชื่อฟัง ทำตาม ยินยอม ไม่ขัดขืน เห็นด้วย ตอบ ช่วย สนใจ สื่อสาร ปรับ สอดคล้อง อนุญาต ยอมรับ รับผิดชอบ ให้

เห็นคุณค่า

(Value)

เลือกใช้ เลือกรับ ยอมรับ วางตัว ประพฤติ ปฏิบัติ เลือก มอบหมาย ตัดสินใจ แสดงให้เห็น ริเริ่ม ให้ความสำคัญ ค้นหา

จัดระบบคุณค่า

(Organize)

ปรับ จัดเรียง จัดสมดุล คัดเลือก สร้างกรอบความคิด ใช้สูตรแสดง คิดวิธี กำหนดสูตร บัญญัติ จัดกลุ่ม จัดลำดับ บริหาร

พัฒนาเป็นลักษณะนิสัย (Characterize)

แสดง สนับสนุน ป้องกัน เป็นตัวอย่าง ยกตัวอย่าง ชักจูง กำหนด แสดงให้เห็นถึง รักษา ช่วยเหลือ

                 การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพนั้น ควรเขียนให้มีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ 1. สถานการณ์ เงื่อนไข ต้นเหตุ หรือองค์ความรู้ 2. พฤติกรรมหรือเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้น 3. เกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ทำให้บรรลุเป้าหมาย โดยองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านนี้สามารถเขียนสลับที่กันได้ ทั้งนี้ควรใช้คำกริยาที่ระบุพฤติกรรมหรือเงื่อนไขที่ละเอียดและชัดเจน เช่น

                    - เมื่อนักเรียนอ่านสถานการณ์ปัญหาในใบงานที่ 6.1 แล้วสามารถแสดงวิธีการแก้ปัญหาได้ถูกต้องอย่างน้อย 5 ข้อ

                    - นักเรียนสามารถอธิบายความหมายของเศษส่วนได้ถูกต้อง

                    - นักเรียนสามารถยกตัวอย่างรูปเรชาคณิตในชีวิตประจำวันได้อย่างน้อย 4 ตัวอย่าง

                    ฯลฯ


อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

วันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566

การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)

ทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) เป็นพฤติกรรมที่บ่งถึงความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างคล่องแคล่ว โดยมีเวลาและคุณภาพของงานเป็นตัวชี้ระดับของทักษะ ซึ่งบลูมได้แบ่งลำดับขั้นของพฤติกรรมออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่

1. เลียนแบบ (Imitation) คือ พฤติกรรมที่เกิดจากการสังเกตแล้วทำตาม เป็นการให้ผู้เรียนได้รับรู้หลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือเป็นการเลือกหาตัวแบบที่ตนเองสนใจ

2. ทำได้ตามแบบ (Manipulation) คือ การทำตามได้ โดยผู้เรียนจะพยายามฝึก
ตามแบบที่ตนสนในและพยายามทำซ้ำ ๆ เพื่อที่จะให้เกิดทักษะตามแบบที่ตนสนใจให้ได้ หรือสามารถปฏิบัติงานได้ตามข้อเสนอแนะ

3. ทำได้ถูกต้องแม่นยำ (Precision) คือ พฤติกรรมที่ทำได้ถูกต้อง โดยผู้เรียนจะมี
การควบคุมพฤติกรรมเพื่อลดความผิดพลาดต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ทำให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องชี้แนะ พร้อมทั้งพยายามหาความถูกต้องในการปฏิบัติ

4. ทำได้ต่อเนื่องประสานกัน (Articulation) คือ พฤติกรรมที่ผู้เรียนได้เรียนรู้
วิธีการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากตัดสินใจเลือกรูปแบบที่เป็นของตัวเองและได้กระทำ ตามรูปแบบนั้นอย่างต่อเนื่อง จนปฏิบัติงานที่ยุ่งยากซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง คล่องแคล่ว การที่ผู้เรียนเกิดทักษะได้ ต้องอาศัยการฝึกฝนและกระทำ อย่างสม่ำเสมอ

5. ทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ (Naturalization) คือ พฤติกรรมที่ได้จากการฝึก
อย่างต่อเนื่อง จนสามารถปฏิบัติได้คล่องแคล่วว่องไวโดยอัตโนมัติ เป็นไปอย่างธรรมชาติ



ตารางที่ 6.6 แสดงคำกริยาสะท้อนพฤติกรรมด้านทักษะพิสัย

ลำดับขั้นของพฤติกรรม

คำกริยาที่สะท้อนพฤติกรรมด้านทักษะพิสัย

เลียนแบบ

(Imitation)

สังเกตและทำตาม ดูและทำตาม ทำตามตัวอย่าง คัดลอก ทำซ้ำ เขียนซ้ำ ทำตาม ปฏิบัติตาม

ทำได้ตามแบบ

(Manipulation)

ลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ สร้าง ทำ ทำอีกครั้ง ดำเนินการ จัดการ ปฏิบัติการ กระทำ ทำให้เกิดขึ้น นำไปปฏิบัติ

ทำได้ถูกต้องแม่นยำ

(Precision)

ปฏิบัติถูกต้อง สาธิต ทำด้วยตนเอง แสดง ทำได้อย่างแม่นยำ ทำได้อย่างสมบูรณ์ ทำได้ครบถ้วน ทำได้ตามมาตรฐาน ใช้ทักษะ

ทำได้ต่อเนื่องประสานกัน (Articulation)

สร้าง ผูกเรื่อง แก้ปัญหา รวม ประสาน เสริม สอดคล้อง บูรณาการ ประยุกต์ พัฒนา บัญญัติ คิดสูตร กำหนด ดัดแปลง

ทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ (Naturalization)

ออกแบบ ระบุ กำหนดเป้าหมาย ใช้กระบวนการ ใช้กลยุทธ์ บริหารจัดการ จัดการ ประดิษฐ์ จัดโครงการ ทำโครงงาน

 

          ทั้งนี้ครูคณิตศาสตร์ต้องคำนึงถึงความสอดคล้องของการเขียนจุดประสงค์ด้านทักษะพิสัยหรือครูบางท่านเรียกจุดประสงค์ด้านนี้ว่า ทักษะกระบวนการ กับสาระ มาตรฐาน และตัวชี้วัดที่ระบุไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้ด้วย เนื่องจากวิชาคณิตศาสตร์มีสาระที่เกี่ยวข้องกับทักษะกระบวนการโดยตรง คือ สาระที่ 6 ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ที่เน้นให้ผู้เรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหา  การให้เหตุผล    การสื่อสาร  การสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ และการนำเสนอ การเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์และเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่น ๆ และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยครูสามารถนำคำกริยาที่สะท้อนพฤติกรรมด้านทักษะพิสัยมาเขียนเชื่อมโยงกับทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานและตัวชี้วัดตามหลักสูตร


อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

วันอังคารที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2566

การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)

ทฤษฎีการเรียนรู้ของเบนจามิน บลูม และคณะ (Bloom et, al, 1956: 10-24) ที่ได้จำแนกจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้ 

        a. ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) 

        b. ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) 

        c. ด้านจิตพิสัย (Affective Domain)

การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) 
เป็นพฤติกรรมเกี่ยวกับสติปัญญา ความรู้ ความคิด ความเฉลียวฉลาด ความสามารถในการคิดเรื่องราวต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบลูมได้แบ่งลำดับขั้นของการเรียนรู้ออกเป็น 6 ระดับ ได้แก่

    1. ความรู้ (Knowledge) คือ ความสามารถในการเก็บรักษามวลประสบการณ์ต่างๆ จากการรับรู้และระลึกถึงสิ่งนั้นได้เมื่อต้องการ

    2. ความเข้าใจ (Comprehension) คือ ความสามารถในการจับใจความสำคัญและสามารถแสดงออกมาในรูปของการแปลความ ตีความ คาดคะเน ขยายความหรือการกระทำ อื่น ๆ ได้

    3. การนำความรู้ไปใช้ (Application) คือ ขั้นที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ จึงจะสามารถนำไปใช้ได้

    4. การวิเคราะห์ (Analysis)  คือ การที่ผู้เรียนสามารถคิดหรือแยกแยะเรื่องราวสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นส่วนย่อยออกเป็นองค์ประกอบที่สำคัญได้ และมองเห็นความสัมพันธ์ของส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งความสามารถในการวิเคราะห์จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ความคิดของแต่ละคน

    5. การสังเคราะห์ (Synthesis) คือ ความสามารถในการที่ผสมผสานส่วนย่อย ๆ เข้าเป็นเรื่องราวเดียวกันอย่างมีระบบ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่สมบูรณ์และดีกว่าเดิม อาจเป็นการถ่ายทอดความคิดออกมาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย การกำหนด วางแผน วิธีการดำเนินงานขึ้นใหม่ หรือสร้างความสัมพันธ์ของสิ่งที่เป็นนามธรรมขึ้นมาในรูปแบบหรือแนวคิดใหม่

    6. การประเมินค่า (Evaluation) คือ ความสามารถในการตัดสิน ตีราคา หรือสรุปเกี่ยวกับคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ออกมาในรูปของคุณธรรมอย่างมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นไปตามเนื้อหาสาระในเรื่องนั้น ๆ หรือเป็นกฎเกณฑ์ที่สังคมยอมรับก็ได้


ตารางที่ 6.5 แสดงคำกริยาสะท้อนพฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย

ลำดับขั้นการเรียนรู้

คำกริยาที่สะท้อนพฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย

ความรู้

(Knowledge)

ให้ความหมาย บอกเรื่องราว ชี้ จับคู่ กล่าวเป็นข้อความ เลือก เขียนโครงร่าง บรรยาย ชี้แจง เขียน บอก ชี้บ่ง จัด จำแนก ระบุ ค้นหา วิธีปฏิบัติ

ความเข้าใจ (Comprehension)

แยกแยะ อธิบาย แปลความ เปลี่ยนข้อความ ให้เหตุผล ขยายความ คาดคะเน ย่อความ อ้างอิง ยกตัวอย่าง เรียบเรียง แปลง ขยายความ เขียนใหม่ สรุป

การนำความรู้ไปใช้ (Application)

ปฏิบัติ คำนวณ แสดง สาธิต สัมพันธ์เรื่อง ทำให้ดู เลือก เปลี่ยนวิธีการ ปรับปรุง ใช้ เขียนแผนงาน แก้ปัญหา ผลิต แต่ง

การวิเคราะห์ (Analysis) 

แยก แยกแยะ จำแนก แบ่งกลุ่ม อ้างอิง แสดงเป็นแผนภาพ เปรียบเทียบ วิเคราะห์ ชี้บ่ง จัดประเภท ระบุ หาความสัมพันธ์

การสังเคราะห์ (Synthesis)

สร้าง สรุป ประกอบ เขียนแผนผัง วางแผน กำหนด ขอบข่าย ประเมิน พิจารณา

การประเมินค่า (Evaluation)

เกิดความพอใจ เห็นความแตกต่าง เปรียบเทียบ สรุปความ วิจารณ์ แปลความ ทำนาย ตัดสิน เปรียบเทียบกับมาตรฐาน เปรียบเทียบกับเกณฑ์

 


อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2566

การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้

จุดประสงค์การเรียนรู้ นับเป็นหัวใจของการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ โดยทั่วไปนิยมเขียนใน 2 ลักษณะ คือ (1) จุดประสงค์ปลายทางหรือจุดประสงค์ทั่วไป และ (2) จุดประสงค์การนำทางหรือจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

                           (1) จุดประสงค์ปลายทางหรือจุดประสงค์ทั่วไป คือ จุดประสงค์ที่เน้นไปที่เป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นจุดประสงค์ที่เน้นองค์รวม วิธีการเขียนจุดประสงค์ประเภทนี้จะใช้คำกว้าง ๆ ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น

                            - เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องทศนิยม

                            - เพื่อให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการใช้เงิน

                            -เพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงประโยชน์ของสถิติในชีวิตประจำวัน

                           (2) จุดประสงค์การนำทางหรือจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม คือ จุดประสงค์ที่ระบุถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน โดยเน้นพฤติกรรมที่สังเกตและวัดได้อย่างชัดเจน 3 ด้าน คือ ด้านสติปัญญา (พุทธิพิสัย) ด้านทักษะ (ทักษะพิสัย) และด้านเจตคติ (จิตพิสัย) ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ของเบนจามิน บลูม และคณะ (Bloom et, al, 1956: 10-24) ที่ได้จำแนกจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

                                  a. ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)

                                  b. ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)

                                  c. ด้านจิตพิสัย (Affective Domain)

การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพนั้น ควรเขียนให้มีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ 

                                1. สถานการณ์ เงื่อนไข ต้นเหตุ หรือองค์ความรู้ 

                                2. พฤติกรรมหรือเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้น 

                                3. เกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ทำให้บรรลุเป้าหมาย 

โดยองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านนี้สามารถเขียนสลับที่กันได้ ทั้งนี้ควรใช้คำกริยาที่ระบุพฤติกรรมหรือเงื่อนไขที่ละเอียดและชัดเจน เช่น

                    - เมื่อนักเรียนอ่านสถานการณ์ปัญหาในใบงานที่ 6.1 แล้วสามารถแสดงวิธีการแก้ปัญหาได้ถูกต้องอย่างน้อย 5 ข้อ

                    - นักเรียนสามารถอธิบายความหมายของเศษส่วนได้ถูกต้อง

                    - นักเรียนสามารถยกตัวอย่างรูปเรชาคณิตในชีวิตประจำวันได้อย่างน้อย 4 ตัวอย่าง

                    ฯลฯ


อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ความหมายและที่มาของคำสำคัญในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ 1 (ส่วนหัวแผน, สาระ/มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด, สาระสำคัญ)

นักศึกษาและครูผู้เริ่มต้นฝึกการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้มักมีความสับสนและกังวลในหัวข้อที่ปรากฏในแผนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยการศึกษาข้อมูลจากแหล่งการเรียนรู้หลายแหล่ง และลงมือเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง คำแนะนำจากเพื่อนร่วมงาน ครูพี่เลี้ยงหรือผู้เชี่ยวชาญจะช่วยเพิ่มความเข้าใจในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ให้มากขึ้น ซึ่งในเอกสารฉบับนี้จะอธิบายความหมายและที่มาของคำสำคัญซึ่งเป็นหัวข้อต่าง ๆ ในแผนการจัดการเรียนรู้ ดังนี้


                1) ส่วนหัวแผน เป็นส่วนบนสุดของแผนการจัดการเรียนรู้ ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน เป็นส่วนของการบอกรายละเอียดเบื้องต้นของแผนการจัดการเรียนรู้ เช่น ลำดับที่ของแผน วิชา ชั้นที่สอน ชื่อครูผู้สอน วันที่สอน ฯลฯ สิ่งที่สำคัญ คือ ลำดับที่ของแผนควรระบุหมายเลขกำกับต่อเนื่องกันไปทุกหน่วยการเรียนรู้ทั้งภาคเรียนหรือทั้งปีการศึกษา ส่วนวันที่ครูใช้แผนการจัดการเรียนรู้เพื่อสอนสามารถใช้ปากกาเติมภายหลังได้ตามปฏิทินและตารางสอน แผนการจัดการเรียนรู้ 1 แผน สามารถใช้สอนหลายห้องได้ ในส่วนของหัวแผนจึงสามารถบันทึกชื่อชั้นเรียนและวันที่ใช้สอนได้หลายบรรทัดตามที่ใช้จริง ทั้งนี้ครูผู้สอนต้องแนบเครื่องมือวัดและประเมินผลเป็นรายห้องในส่วนท้ายให้ครบทุกชั้นเรียนด้วย


                2) สาระ/มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด เป็นส่วนที่ผู้เขียนแผนการจัดการเรียนรู้ต้องวิเคราะห์มาจากหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งสถานศึกษาแต่ละแห่งจะมีการออกแบบการวิเคราะห์หลักสูตรในรูปแบบที่แตกต่างกันไป หลักสูตรบางเล่มได้ทำการวิเคราะห์เป็นรายหน่วยการเรียนรู้โดยระบุสาระ/มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด ไว้ในแต่ละหน่วย แต่หากหลักสูตรเล่มใดไม่ได้ระบุไว้ ครูผู้สอนก็สามารถนำสาระ/มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด จากคำอธิบายรายวิชา ซึ่งได้ระบุไว้เป็นรายปีการศึกษาและรายภาคเรียนในหลักสูตรสถานศึกษาทุกเล่ม มาวิเคราะห์เป็นรายแผนการจัดการเรียนรู้ โดยในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้ไม่ควรมีจำนวนของสาระ/มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด มากจนเกินไป ควรเลือกให้ตรงกับเนื้อหาที่จะสอน ไม่ควรเกิน 3 รหัสตัวชี้วัด โดยควรมีสาระที่ 6 ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์รวมอยู่ด้วย รหัสตัวชี้วัดแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้สามารถซ้ำกันได้ แต่เมื่อเขียนครบทุกแผนในปีการศึกษาหรือภาคการศึกษาแล้วต้องมีจำนวนของสาระ/มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด ครบทุกตัวที่ระบุไว้ในหลักสูตรสถานศึกษา


                    3) สาระสำคัญ ตรงกับคำภาษาอังกฤษ คือ Concept หมายถึง ความคิดรวบยอดในการจัดการเรียนการสอนในคาบเรียนนั้น ครูต้องเขียนให้เห็นถึงแนวความคิดของคาบเรียนนั้น โดยเขียนให้สอดคล้องและสัมพันธ์กับสาระ/มาตรฐาน/ตัวชี้วัด ที่ระบุไว้ในแผนนั้นด้วย สามารถเขียนได้ทั้งแบบความเรียงและแบบรายข้อ ทั้งนี้สามารถศึกษาสาระสำคัญเพิ่มเติมได้จากหัวข้อสาระการเรียนรู้แกนกลางในเอกสาร “ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551” หรือเอกสาร “ตัวชี้วัดและสาระกรเรียนรู้แกนกลางต้องรู้และควรรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551” ของกระทรวงศึกษาธิการ


อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.