หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ศิลปะการสอนคณิตศาสตร์

 การสอนคณิตศาสตร์เป็นการผนวกเอาสองคำใหญ่ ๆ มาไว้ด้วยกันคือคำว่า “การสอน” และคำว่า “คณิตศาสตร์” ซึ่งถือเป็นศาสตร์สองแขนงที่ต่างกัน การสอนนับเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ผู้สอนหรือครูต้องหาวิธีการสอนแบบต่าง ๆ มาใช้ในชั้นเรียน เนื่องจากครูไม่สามารถนำเอาเฉพาะความรู้หรือทฤษฎีมาบรรจุใส่สมองของนักเรียนได้โดยง่าย ครูต้องมีเทคนิค วิธีการ หรือกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อทำให้นักเรียนรับความรู้ที่เราต้องการมอบให้และสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ในการดำเนินชีวิตหรือประกอบอาชีพได้ หลายคนจึงนิยามการสอนว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ส่วนคณิตศาสตร์เป็นองค์ความรู้ที่เป็นนามธรรมที่สำคัญมากในการพัฒนาสมอง ความคิด และชีวิตประจำวัน เป็นองค์ความรู้ที่มีขนาดใหญ่ เรียงร้อยต่อกันอย่างเป็นลำดับ มีความง่ายและยากซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเอาสองคำนี้มาเรียงต่อกันเป็นการสอนคณิตศาสตร์ จึงทำให้ครูคณิตศาสตร์ต้องใช้ศิลปะในการสอนเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้คณิตศาสตร์ได้เข้าใจและลึกซึ้ง



ศิลปะการสอน (Art of Teaching) หมายถึง ความรู้และความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ต่างๆ เช่น จิตวิทยาการเรียนรู้ วิธีการ และเทคนิคต่างๆ ในสถานการณ์การสอนแต่ละสถานการณ์ เพื่อช่วยให้การสอนมีความน่าสนใจ สนุก มีชีวิตชีวา และช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ราบรื่นและมีความสุข (ทิศนา แขมมณี, 2555: 474)

        โดยปกติเนื้อหาส่วนใหญ่ของคณิตศาสตร์มักมีลักษณะเป็นนามธรรม ดังนั้นศิลปะการสอนต่างๆ เช่น การใช้คำถามที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจ การใช้วิธีการให้นักเรียนได้ค้นพบด้วยตนเอง การทำคณิตศาสตร์ให้มีชีวิตชีวา การใช้สื่อการสอนที่เหมาะสม จึงมีความสำคัญที่จะทำให้นักเรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้เดิมของนักเรียนสู่องค์ความรู้ใหม่ การเริ่มหรือจบบทเรียนที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจ ต่างๆ เหล่านี้เป็นศิลปะการสอนที่จะช่วยให้นักเรียนพัฒนาความสามารถไปสู่เป้าหมายได้

        ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะในการสอนคณิตศาสตร์บางประการที่เชื่อว่าเป็นศิลปะการสอนที่ดี นำไปสู่ความสำเร็จในการสอนคณิตศาสตร์

1) การถามคำถามที่น่าตื่นเต้นน่าสนใจ

   คำถามที่น่าตื่นเต้นน่าสนใจจะกระตุ้นให้นักเรียนได้ใช้จินตนาการในการหาคำตอบได้ถกเถียงหาแนวทางที่เหมาะสมในการหาคำตอบ ภายใต้การแนะนำของครู ทำให้นักเรียนอยากหาคำตอบ เกิดการคาดเดา และตรวจสอบหาคำตอบโดยประมาณซึ่งทำได้ไม่ยากนัก การใช้คำถามที่มีประสิทธิภาพในสถานการณ์ที่เหมาะสมช่วยให้นักเรียนพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และความคิดวิเคราะห์ ครูจึงควรตั้งคำถามที่ไม่ยากเกินไปหรือง่ายเกินไปให้กับนักเรียนแต่ละกลุ่ม โดยการสังเกตการตอบสนองของนักเรียน ถ้านักเรียนสามารถตอบสนองด้วยความสนใจและกระตือรือร้น แสดงว่าคำถามที่ครูใช้เหมาะสมกับระดับความสามารถของนักเรียน ในทางกลับกันถ้านักเรียนไม่ตอบสนองต่อคำถามของครู ครูควรปรับคำถามอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้นักเรียนสามารถมีส่วนร่วมในการถามตอบเพื่อแก้ปัญหาต่อไป

2) สอนเพื่อให้นักเรียนค้นพบ

    เทคนิคการสอนเพื่อให้นักเรียนค้นพบด้วยตนเอง เป็นการกระตุ้นและคงไว้ซึ่งความสนใจวิชาคณิตศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้น การสอนเพื่อให้นักเรียนค้นพบยังช่วยพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในการศึกษาคณิตศาสตร์ในอนาคตของนักเรียนอีกด้วย นักเรียนที่ค้นพบในสิ่งที่ครูต้องการให้เรียนรู้มักจะมีความคงทนของการรู้ และภาคภูมิใจในความสามารถของตนเอง

    การค้นพบมีอยู่ 2 แบบ ซึ่งแตกต่างกัน คือ การค้นพบโดยการสร้างสรรค์ (creative discovery) และการค้นพบโดยการชี้แนะ (guided discovery) 

    2.1) วิธีการค้นพบโดยการสร้างสรรค์ ครูจะต้องเป็นผู้เสนอสถานการณ์กับชั้นเรียนและอนุญาตให้นักเรียนสำรวจด้วยตนเองโดยใช้สหัชญาณหรือสามัญสำนึก (intuition) ที่ผ่านไปทีละขั้น โดยครูจะแนะนำแนวทางเพียงเล็กน้อยหรือไม่แนะแนวทางเลย ซึ่งแนวทางนี้เหมาะกับนักเรียนปัญญาเลิศโดยเฉพาะ วิธีนี้จะให้แนวทางที่จำเป็นในการทำให้นักเรียนสามารถคิดค้น วิจัยสิ่งต่างๆ ได้เองโดยอิสระ ต่อไปในอนาคต สำหรับนักเรียนระดับกลาง หรือนักเรียนที่เรียนช้าอาจเรียนด้วยความยากลำบากถ้าปราศจากการชี้แนะแนวทาง แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับนักเรียนเหล่านี้ก็ยังพบว่าแนววิธีของการค้นพบยังคงมีประสิทธิภาพอยู่พอสมควร เพราะบ่อยครั้งที่พบว่านักเรียนเรียนช้าเกิดมีแรงกระตุ้นในการเรียนคณิตศาสตร์ขึ้นถ้าให้โอกาสนักเรียนได้ค้นพบ ในกรณีนี้เราอาจจำเป็นต้องใช้แนวทางของการค้นพบโดยการชี้แนะบ้าง (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), 2555: 25)

   2.2) การค้นพบโดยการชี้แนะ ครูจะเป็นผู้นำชั้นให้เป็นไปตามเส้นทางที่ถูกต้อง ตัดความพยายามที่ไม่ถูกต้องออก การใช้คำถามนำและการแนะนำแนวทางคิดเป็นสิ่งจำเป็น วิธีการนี้เป็นการผจญภัยร่วมกัน ซึ่งจะมีความตื่นเต้นเมื่อคนใดคนหนึ่งมุ่งไปสู่เป้าหมายได้เป็นผลสำเร็จ กระบวนการของการค้นพบโดยการชี้แนะนี้ อาจใช้ได้ผลดีในกลุ่มการเรียนแบบร่วมมือ หากนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กัน ช่วยเหลือกัน จนนำไปสู่การค้นพบได้

3) ทำคณิตศาสตร์ให้มีชีวิตชีวา

    วิธีหนึ่งที่ทำคณิตศาสตร์ให้มีชีวิตชีวาคือ การนำเรื่องราวที่น่าสนใจของนักคณิตศาสตร์ในอดีตมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งมีอยู่หลายเรื่องที่มีคุณค่า ควรแก่การศึกษาหรือแนะนำในชั้นเรียน

4) เริ่มหรือจบคาบสอนด้วยปัญหาที่สนใจ

   ครูที่ปรารถนาจะเห็นนักเรียนตื่นตัวต่อการเรียนและประทับใจกับการเรียนการสอนจะต้องรู้จักรวบรวมปัญหา เรื่องราว เกร็ดความรู้ และประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ไว้เป็นความรู้ประดับตัว เรื่องเหล่านี้อาจนำมาใช้สร้างความสนใจในตอนต้นชั่วโมง จะดึงดูดให้นักเรียนต้องการเข้าชั้นเรียนคณิตศาสตร์ หรือนำมาใช้ในตอนท้ายชั่วโมงเพื่อให้นักเรียนรู้สึกเสียดายที่หมดเวลาเรียน และเดินออกจากห้องเรียนด้วยการพูดคุยถึงสิ่งที่ประทับใจ น่าตื่นเต้นที่ได้รับในชั้นเรียน

5) การใช้สื่อการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ

   สื่อการสอนคณิตศาสตร์ ได้แก่ วัสดุอุปกรณ์ชนิดต่างๆ แบบจำลอง สิ่งพิมพ์หรือเอกสาร สิ่งแวดล้อม สิ่งประดิษฐ์ กิจกรรมหรือเกมต่างๆ และสื่อเทคโนโลยีต่างๆ ที่สนองจุดมุ่งหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ สื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพมีความสำคัญต่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์อยู่หลายประการ โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ เช่น มีบทบาทในการสร้างความคิด การแก้ปัญหาต่างๆ ช่วยสร้างมโนทัศน์ทางคณิตศาสตร์ ช่วยในการสืบสวนสอบสวนอย่างอิสระ กระตุ้นความสนใจ พัฒนาความสามารถตามความแตกต่างของบุคคล หรือใช้สร้างความพึงพอใจในวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียน ซึ่งในการนำสื่อการสอนมาใช้ในการเรียนรู้ นอกจากครูจะต้องตระหนักว่าสื่อนั้นเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้ด้านต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ครูต้องตระหนักว่าความสามารถของสื่อมีขีดจำกัด ไม่สามารถนำมาใช้ประกอบการสอนได้ทุกเนื้อหาหรือทุกกรณี ต้องไม่สอนให้นักเรียนหลงติดรูปธรรมหรือสื่อจนขาดความคิดที่เป็นนามธรรม

ทักษะและศิลปะการสอนของครูคณิตศาสตร์มืออาชีพเป็นสิ่งจำเป็นที่ครูคณิตศาสตร์ต้องเรียนรู้และลองลงมือปฏิบัติในการใช้ทักษะและศิลปะการสอนในชั้นเรียนของตนเอง เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และปรับประยุกต์องค์ความรู้ที่เป็นทฤษฎีให้เป็นการปฏิบัติที่เชี่ยวชาญเฉพาะตัว ความเป็นครูคณิตศาสตร์มืออาชีพจะเกิดขึ้นจากการฝึกฝนและพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง

อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น