หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2566

การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)

ทฤษฎีการเรียนรู้ของเบนจามิน บลูม และคณะ (Bloom et, al, 1956: 10-24) ที่ได้จำแนกจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้ 

        a. ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) 

        b. ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) 

        c. ด้านจิตพิสัย (Affective Domain)

การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) 
เป็นพฤติกรรมเกี่ยวกับสติปัญญา ความรู้ ความคิด ความเฉลียวฉลาด ความสามารถในการคิดเรื่องราวต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบลูมได้แบ่งลำดับขั้นของการเรียนรู้ออกเป็น 6 ระดับ ได้แก่

    1. ความรู้ (Knowledge) คือ ความสามารถในการเก็บรักษามวลประสบการณ์ต่างๆ จากการรับรู้และระลึกถึงสิ่งนั้นได้เมื่อต้องการ

    2. ความเข้าใจ (Comprehension) คือ ความสามารถในการจับใจความสำคัญและสามารถแสดงออกมาในรูปของการแปลความ ตีความ คาดคะเน ขยายความหรือการกระทำ อื่น ๆ ได้

    3. การนำความรู้ไปใช้ (Application) คือ ขั้นที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ จึงจะสามารถนำไปใช้ได้

    4. การวิเคราะห์ (Analysis)  คือ การที่ผู้เรียนสามารถคิดหรือแยกแยะเรื่องราวสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นส่วนย่อยออกเป็นองค์ประกอบที่สำคัญได้ และมองเห็นความสัมพันธ์ของส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งความสามารถในการวิเคราะห์จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ความคิดของแต่ละคน

    5. การสังเคราะห์ (Synthesis) คือ ความสามารถในการที่ผสมผสานส่วนย่อย ๆ เข้าเป็นเรื่องราวเดียวกันอย่างมีระบบ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่สมบูรณ์และดีกว่าเดิม อาจเป็นการถ่ายทอดความคิดออกมาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย การกำหนด วางแผน วิธีการดำเนินงานขึ้นใหม่ หรือสร้างความสัมพันธ์ของสิ่งที่เป็นนามธรรมขึ้นมาในรูปแบบหรือแนวคิดใหม่

    6. การประเมินค่า (Evaluation) คือ ความสามารถในการตัดสิน ตีราคา หรือสรุปเกี่ยวกับคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ออกมาในรูปของคุณธรรมอย่างมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นไปตามเนื้อหาสาระในเรื่องนั้น ๆ หรือเป็นกฎเกณฑ์ที่สังคมยอมรับก็ได้


ตารางที่ 6.5 แสดงคำกริยาสะท้อนพฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย

ลำดับขั้นการเรียนรู้

คำกริยาที่สะท้อนพฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย

ความรู้

(Knowledge)

ให้ความหมาย บอกเรื่องราว ชี้ จับคู่ กล่าวเป็นข้อความ เลือก เขียนโครงร่าง บรรยาย ชี้แจง เขียน บอก ชี้บ่ง จัด จำแนก ระบุ ค้นหา วิธีปฏิบัติ

ความเข้าใจ (Comprehension)

แยกแยะ อธิบาย แปลความ เปลี่ยนข้อความ ให้เหตุผล ขยายความ คาดคะเน ย่อความ อ้างอิง ยกตัวอย่าง เรียบเรียง แปลง ขยายความ เขียนใหม่ สรุป

การนำความรู้ไปใช้ (Application)

ปฏิบัติ คำนวณ แสดง สาธิต สัมพันธ์เรื่อง ทำให้ดู เลือก เปลี่ยนวิธีการ ปรับปรุง ใช้ เขียนแผนงาน แก้ปัญหา ผลิต แต่ง

การวิเคราะห์ (Analysis) 

แยก แยกแยะ จำแนก แบ่งกลุ่ม อ้างอิง แสดงเป็นแผนภาพ เปรียบเทียบ วิเคราะห์ ชี้บ่ง จัดประเภท ระบุ หาความสัมพันธ์

การสังเคราะห์ (Synthesis)

สร้าง สรุป ประกอบ เขียนแผนผัง วางแผน กำหนด ขอบข่าย ประเมิน พิจารณา

การประเมินค่า (Evaluation)

เกิดความพอใจ เห็นความแตกต่าง เปรียบเทียบ สรุปความ วิจารณ์ แปลความ ทำนาย ตัดสิน เปรียบเทียบกับมาตรฐาน เปรียบเทียบกับเกณฑ์

 


อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น