หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2566

กระบวนการฝึกทักษะการสอนคณิตศาสตร์

การที่ครูคณิตศาสตร์จะมีความถนัดหรือความชำนาญในการสอนได้นั้น จะต้องมีการเรียนรู้และปลูกฝังความเป็นครูทั้งในภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ โดยมีนักวิชาการและนักการศึกษาได้กล่าวถึงกระบวนการฝึกทักษะการสอนไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้



กระบวนการฝึกทักษะการสอน (ทิศนา แขมมณี, 2555: 412) สามารถจัดได้ใน 2 ลักษณะ คือ 1) การสอนแบบจุลภาค 2) การฝึกสอน

1) การสอนแบบจุลภาค (micro teaching) เป็นการฝึกทักษะการสอนก่อนออกไปสู่สถานการณ์จริง คือ การสอนในโรงเรียน วัตถุประสงค์ก็เพื่อช่วยให้นักศึกษาครูได้ฝึกปฏิบัติการสอนในจุดที่ตนยังทำไม่ได้ หรือยังทำได้ไม่ดี เป็นการฝึกซ้อมให้ตนเองมีความพร้อมในการไปปฏิบัติงานจริงในขั้นที่ 2 คือ ขั้นออกฝึกสอนในโรงเรียน หลักของการฝึกทักษะการสอนมีอยู่ 3 ประการ คือ 

    (1) การมีแบบอย่างที่ดี การฝึกทักษะจะได้ผลดี หากผู้ฝึกได้เห็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องนั้น ซึ่งแบบอย่างนี้อาจเป็นตัวบุคคลจริง หรืออาจอยู่ในรูปของสื่อก็ได้ 

    (2) การมีเกณฑ์ที่ดีและชัดเจน หากทักษะการสอนที่จะฝึกมีเกณฑ์ของการกระทำที่ชัดเจน มีลักษณะเป็นรูปธรรม หรือระบุพฤติกรรมที่ชัดเจน จะช่วยให้การฝึกประสบความสำเร็จได้อย่างดี เนื่องจากผู้รับการฝึกรู้ว่า ควรจะต้องทำอะไรบ้าง การรู้ถึงพฤติกรรมที่คาดหวังอย่างชัดเจนย่อมเป็นแนวทางให้ผู้รับการฝึกเดินไปสู่เป้าหมายได้ตรงทาง ไม่หลงทาง 

    (3) การได้รับข้อมูลป้อนกลับ (feedback) หากผู้รับการฝึกได้รับรู้การกระทำและผลของการกระทำของตนเองด้วยตาตนเองแล้ว จะช่วยให้ผู้รับการฝึกยอมรับที่จะแก้ไขและเห็นจุดและแนวทางที่จะปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมของตน

        การสอนแบบจุลภาค จะใช้การย่อส่วนทั้งในด้านบทเรียน ผู้เรียน และเวลาเรียน กล่าวคือ ผู้รับการฝึกจะไม่สอนทั้งบทเรียนแต่จะเลือกเฉพาะขั้นตอนหรือจุดที่ตนต้องการจะฝึกฝนเท่านั้น ส่วนผู้เรียนก็ไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งชั้นเรียน อาจใช้เพียง 3 - 10 คนก็ได้ และหากไม่สามารถหาผู้เรียนจริงได้ อาจให้เพื่อนร่วมชั้นเป็นผู้เรียนให้ก็ได้ (แต่ควรเลือกบทเรียนที่เหมาะกับระดับของผู้เรียน) การฝึกใช้เวลาไม่มากเพียงประมาณ 5 – 10 นาที ก็เพียงพอสำหรับทักษะหนึ่งๆ 

2) การฝึกสอน เป็นการให้ผู้รับการฝึกไปสอนนักเรียนในสถานการณ์จริง เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง โดยมีผู้สอนที่มีประสบการณ์ทำหน้าที่ช่วยเหลือให้คำปรึกษาแนะนำ การฝึกทักษะการสอนแบบนี้ให้ผลดีมาก หากผู้รับการฝึกได้แบบอย่างและที่ปรึกษาที่ดี
        Duminy P.A., MacLarty A.H. & Maasdorp N. (2006, 6) กล่าวว่า การฝึกทักษะการสอนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้สำเร็จ เพราะผู้ฝึกจะต้องบูรณาการทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเข้าด้วยกัน รวมไปถึงทฤษฏีทางการศึกษาแบบต่าง ๆ ที่ถูกแยกออกจากการปฏิบัติจริงในชั้นเรียน เป็นทฤษฎีที่อยู่บน “ชั้นวางหนังสือ” ที่นำมาปฏิบัติจริงได้ยาก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่อาจารย์และนักศึกษาต้องวางแผนและสร้างรูปแบบการฝึกปฏิบัติการสอนร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ 
    1) งานวิจัยทางการศึกษา
    2) กลยุทธ์การสอน 
    การสร้างสถานการณ์จำลองในชั้นเรียนที่จะทำให้นักศึกษามีความมั่นใจมากขึ้น เมื่อไปสอนในโรงเรียนจริง นอกจากนั้น Duminy P.A., MacLarty A.H. & Maasdorp N. (2006, 6) ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การสังเกตครูประจำการก็เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะต้องเตรียมการให้นักศึกษาได้มีความรู้ด้านการสอนในชั้นเรียนเพียงพอก่อนจะไปสังเกตการณ์จริง ในปัจจุบันการสอนแบบจุลภาคได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากว่าเป็นวิธีการที่มีศักยภาพที่จะช่วยฝึกทักษะการสอนให้กับนักศึกษาได้เป็นอย่างดี
 
อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น