หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2566

การเขียนจุดประสงค์ด้านจิตพิสัย (Affective Domain)

จิตพิสัย (Affective Domain) คือ พฤติกรรมที่เกี่ยวกับค่านิยม ความรู้สึก ความซาบซึ้ง ทัศนคติ ความเชื่อ ความสนใจและคุณธรรม ซึ่งพฤติกรรมในด้านนี้อาจไม่เกิดขึ้นในทันที ดังนั้น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และสอดแทรกสิ่งที่ดีงามอยู่ตลอดเวลา จะทำให้พฤติกรรมของผู้เรียนเปลี่ยนไปในแนวทางที่พึงประสงค์ได้ ซึ่งบลูมได้แบ่งลำดับขั้นของพฤติกรรมออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่

1. รับรู้ (Receive) คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อปรากฏการณ์หรือสิ่งเร้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการแปลความหมายของสิ่งเร้านั้นว่าคืออะไร แล้วแสดงออกมาในรูปของความรู้สึกที่เกิดขึ้น

2. ตอบสนอง (Respond) คือ การกระทำที่แสดงออกมาในรูปของความเต็มใจ ยินยอมและพอใจต่อสิ่งเร้านั้นซึ่งเป็นการตอบสนองที่เกิดจากการคัดสรรแล้ว

3. เห็นคุณค่า (Value) คือ การเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เป็นที่ยอมรับกันในสังคม โดยการยอมรับนับถือในคุณค่านั้น ๆ หรือปฏิบัติตามในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนกลายเป็นความเชื่อ แล้วจึงเกิดทัศนคติที่ดีในสิ่งนั้น

4. จัดระบบคุณค่า (Organize) คือ การสร้างแนวคิดหรือการจัดระบบของค่านิยมที่เกิดขึ้นโดยอาศัยความสัมพันธ์ ถ้าเข้ากันได้ก็จะยึดต่อไปแต่ถ้าขัดกันอาจไม่ยอมรับอาจจะยอมรับค่านิยมใหม่โดยยกเลิกค่านิยมเก่า

5. พัฒนาเป็นลักษณะนิสัย (Characterize) คือ การนำค่านิยมที่ยึดถือมาแสดงพฤติกรรมที่เป็นนิสัยประจำตัว เน้นให้ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงาม พฤติกรรมด้านนี้จะเกี่ยวกับความรู้สึกและจิตใจ ซึ่งจะเริ่มจากการได้รับรู้จากสิ่งแวดล้อม แล้วจึงเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ ขยายกลายเป็นความรู้สึกด้านต่าง ๆ จนกลายเป็นค่านิยมและยังพัฒนาต่อไปเป็นความคิด อุดมคติ ซึ่งจะควบคุมทิศทางของพฤติกรรมของแต่ละคนด้วย


ตารางที่ 6.7 แสดงคำกริยาสะท้อนพฤติกรรมด้านจิตพิสัย


ลำดับขั้นของพฤติกรรม

คำกริยาที่สะท้อนพฤติกรรมด้านจิตพิสัย

รับรู้

(Receive)

ฟัง สังเกต ดู สนใจ ถาม เลือก อธิบาย ทำตาม ให้ ถือ ชี้ ใช้ ตอบ ยอมรับ ระวัง ตั้งใจ ฟังคนอื่นพูด

ตอบสนอง

(Respond)

เชื่อฟัง ทำตาม ยินยอม ไม่ขัดขืน เห็นด้วย ตอบ ช่วย สนใจ สื่อสาร ปรับ สอดคล้อง อนุญาต ยอมรับ รับผิดชอบ ให้

เห็นคุณค่า

(Value)

เลือกใช้ เลือกรับ ยอมรับ วางตัว ประพฤติ ปฏิบัติ เลือก มอบหมาย ตัดสินใจ แสดงให้เห็น ริเริ่ม ให้ความสำคัญ ค้นหา

จัดระบบคุณค่า

(Organize)

ปรับ จัดเรียง จัดสมดุล คัดเลือก สร้างกรอบความคิด ใช้สูตรแสดง คิดวิธี กำหนดสูตร บัญญัติ จัดกลุ่ม จัดลำดับ บริหาร

พัฒนาเป็นลักษณะนิสัย (Characterize)

แสดง สนับสนุน ป้องกัน เป็นตัวอย่าง ยกตัวอย่าง ชักจูง กำหนด แสดงให้เห็นถึง รักษา ช่วยเหลือ

                 การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพนั้น ควรเขียนให้มีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ 1. สถานการณ์ เงื่อนไข ต้นเหตุ หรือองค์ความรู้ 2. พฤติกรรมหรือเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้น 3. เกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ทำให้บรรลุเป้าหมาย โดยองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านนี้สามารถเขียนสลับที่กันได้ ทั้งนี้ควรใช้คำกริยาที่ระบุพฤติกรรมหรือเงื่อนไขที่ละเอียดและชัดเจน เช่น

                    - เมื่อนักเรียนอ่านสถานการณ์ปัญหาในใบงานที่ 6.1 แล้วสามารถแสดงวิธีการแก้ปัญหาได้ถูกต้องอย่างน้อย 5 ข้อ

                    - นักเรียนสามารถอธิบายความหมายของเศษส่วนได้ถูกต้อง

                    - นักเรียนสามารถยกตัวอย่างรูปเรชาคณิตในชีวิตประจำวันได้อย่างน้อย 4 ตัวอย่าง

                    ฯลฯ


อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น