หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ความหมายของคำว่า "สาระการเรียนรู้" และคำว่า "กิจกรรมการเรียนรู้"

สาระการเรียนรู้ ตรงกับคำภาษาอังกฤษ คือ Content หมายถึง เนื้อหาสาระในการจัดการเรียนการสอนในคาบเรียนนั้น โดยเขียนให้สอดคล้องและสัมพันธ์กับสาระ/มาตรฐาน/ตัวชี้วัด ที่ระบุไว้ในแผนนั้นด้วย สามารถเขียนได้ทั้งแบบความเรียงและแบบรายข้อ หลักในการเขียนสาระการเรียนรู้ในแผนการจัดการเรียนรู้ คือ เขียนให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ กระชับ แต่ไม่ตัดเนื้อหาจนผู้อื่นไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่ครูเขียนไว้ได้ เขียนให้เหมาะกับเวลา และวัยของผู้เรียน ทั้งนี้ให้ยึดหนังสือเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นสำคัญ ไม่ควรเขียนโดยเน้นสูตรลัดหรือวิธีการที่เน้นความจำเพียงอย่างเดียว หากเนื้อหามีมากครูสามารถจัดทำเป็นใบความรู้แนบในภาคผนวกท้ายแผนการจัดการเรียนรู้ หรือแทรกความรู้หรือตัวอย่างในกิจกรรมการเรียนรู้ได้

กิจกรรมการเรียนรู้ คือ รายละเอียดของขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้  ซึ่งจะระบุบทบาทของผู้สอนและผู้เรียนที่สอดคล้องกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้หรือเทคนิควิธีสอนที่เลือกนำมาใช้ในแผนการจัดการเรียนรู้  โดยต้องเขียนวิธีสอนให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ สาระสำคัญ และสาระการเรียนรู้ เขียนแจกแจงรายละเอียดกิจกรรมที่ดำเนินการทั้งหมดตามกำหนดเวลาในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้ โดยทั่วไปมักเขียนเป็นลำดับขั้นของกิจกรรม คือ ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน  ขั้นสอนหรือขั้นการเรียนรู้  และขั้นสรุป แต่หากไม่เขียนเป็นลำดับขั้น คือ ไม่ระบุขั้นนำ  ขั้นสอน  ขั้นสรุป อาจเขียนเป็นรายข้อตามลำดับกิจกรรมที่ดำเนินการก็ได้  แต่ต้องแสดงกระบวนการสอนที่เป็นระบบ  น่าเชื่อถือ มองเห็นกระบวนการดำเนินกิจกรรมอย่างชัดเจน นอกจากนั้น ครูยังสามารถเขียนกิจกรรมการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนรู้หรือเทคนิคการสอนที่ครูสนใจ เช่น


                    a. วิธีการสอนตามคู่มือ สสวท.

                              1. ขั้นนำ ทบทวนความรู้เดิม

                              2. ขั้นสอน สอนเนื้อหาใหม่

                              3. ขั้นสรุป สรุปเป็นวิธีลัดหรือความคิดรวบยอด

                              4. ขั้นฝึกทักษะ ทำแบบฝึกหัด ใบงาน

                              5. ขั้นประเมินผล

 

                    b. วิธีสอนตามหลักของโพลยา

                              1. ทำความเข้าใจปัญหา

                              2. วางแผนในการแก้ปัญหา

                              3. ลงมือทำตามแผน

                              4. ตรวจวิธีการและคำตอบ


                    c. รูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ 5E

                              1. ขั้นสร้างความสนใจ (Engagement)

                              2. ขั้นสำรวจและค้นหา (Exploration)

                              3. ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป (Explanation)

                              4.  ขั้นขยายความรู้ (Elaboration)

                              5. ขั้นประเมิน (Evaluation)


อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น