นักศึกษาและครูผู้เริ่มต้นฝึกการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้มักมีความสับสนและกังวลในหัวข้อที่ปรากฏในแผนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยการศึกษาข้อมูลจากแหล่งการเรียนรู้หลายแหล่ง และลงมือเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง คำแนะนำจากเพื่อนร่วมงาน ครูพี่เลี้ยงหรือผู้เชี่ยวชาญจะช่วยเพิ่มความเข้าใจในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ให้มากขึ้น ซึ่งในเอกสารฉบับนี้จะอธิบายความหมายและที่มาของคำสำคัญซึ่งเป็นหัวข้อต่าง ๆ ในแผนการจัดการเรียนรู้ ดังนี้
1) ส่วนหัวแผน เป็นส่วนบนสุดของแผนการจัดการเรียนรู้ ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน เป็นส่วนของการบอกรายละเอียดเบื้องต้นของแผนการจัดการเรียนรู้ เช่น ลำดับที่ของแผน วิชา ชั้นที่สอน ชื่อครูผู้สอน วันที่สอน ฯลฯ สิ่งที่สำคัญ คือ ลำดับที่ของแผนควรระบุหมายเลขกำกับต่อเนื่องกันไปทุกหน่วยการเรียนรู้ทั้งภาคเรียนหรือทั้งปีการศึกษา ส่วนวันที่ครูใช้แผนการจัดการเรียนรู้เพื่อสอนสามารถใช้ปากกาเติมภายหลังได้ตามปฏิทินและตารางสอน แผนการจัดการเรียนรู้ 1 แผน สามารถใช้สอนหลายห้องได้ ในส่วนของหัวแผนจึงสามารถบันทึกชื่อชั้นเรียนและวันที่ใช้สอนได้หลายบรรทัดตามที่ใช้จริง ทั้งนี้ครูผู้สอนต้องแนบเครื่องมือวัดและประเมินผลเป็นรายห้องในส่วนท้ายให้ครบทุกชั้นเรียนด้วย
2) สาระ/มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด เป็นส่วนที่ผู้เขียนแผนการจัดการเรียนรู้ต้องวิเคราะห์มาจากหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งสถานศึกษาแต่ละแห่งจะมีการออกแบบการวิเคราะห์หลักสูตรในรูปแบบที่แตกต่างกันไป หลักสูตรบางเล่มได้ทำการวิเคราะห์เป็นรายหน่วยการเรียนรู้โดยระบุสาระ/มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด ไว้ในแต่ละหน่วย แต่หากหลักสูตรเล่มใดไม่ได้ระบุไว้ ครูผู้สอนก็สามารถนำสาระ/มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด จากคำอธิบายรายวิชา ซึ่งได้ระบุไว้เป็นรายปีการศึกษาและรายภาคเรียนในหลักสูตรสถานศึกษาทุกเล่ม มาวิเคราะห์เป็นรายแผนการจัดการเรียนรู้ โดยในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้ไม่ควรมีจำนวนของสาระ/มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด มากจนเกินไป ควรเลือกให้ตรงกับเนื้อหาที่จะสอน ไม่ควรเกิน 3 รหัสตัวชี้วัด โดยควรมีสาระที่ 6 ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์รวมอยู่ด้วย รหัสตัวชี้วัดแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้สามารถซ้ำกันได้ แต่เมื่อเขียนครบทุกแผนในปีการศึกษาหรือภาคการศึกษาแล้วต้องมีจำนวนของสาระ/มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด ครบทุกตัวที่ระบุไว้ในหลักสูตรสถานศึกษา
3) สาระสำคัญ ตรงกับคำภาษาอังกฤษ คือ Concept หมายถึง ความคิดรวบยอดในการจัดการเรียนการสอนในคาบเรียนนั้น ครูต้องเขียนให้เห็นถึงแนวความคิดของคาบเรียนนั้น โดยเขียนให้สอดคล้องและสัมพันธ์กับสาระ/มาตรฐาน/ตัวชี้วัด ที่ระบุไว้ในแผนนั้นด้วย สามารถเขียนได้ทั้งแบบความเรียงและแบบรายข้อ ทั้งนี้สามารถศึกษาสาระสำคัญเพิ่มเติมได้จากหัวข้อสาระการเรียนรู้แกนกลางในเอกสาร “ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551” หรือเอกสาร “ตัวชี้วัดและสาระกรเรียนรู้แกนกลางต้องรู้และควรรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551” ของกระทรวงศึกษาธิการ
อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น