หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

วิธีสอนคณิตศาสตร์แบบต่าง ๆ

 นักการศึกษาหลายท่านได้กล่าวถึงวิธีการสอนไว้หลายวิธี เมื่อรวบรวมแล้วพบว่ามีมากกว่า 50 วิธี ครูผู้สอนจึงมีทางเลือกที่หลากหลายในการใช้วิธีการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียนในชั้นเรียนของตน มีนักการศึกษาจำนวนหนึ่งกล่าวถึงการเลือกวิธีสอนคณิตศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

       Wadhwa S. (2006, 7) กล่าวว่า ในชั้นเรียนคณิตศาสตร์สมัยใหม่ ก่อนที่ครูจะพิจารณาถึงวิธีการสอนจะต้องคำนึงถึงประเด็นพื้นฐาน 2 ประเด็น คือ 1. ครูต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจนถ่องแท้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดทางคณิตศาสตร์กับพื้นฐานการคำนวณที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาตามแนวคิดนั้น 2. ความรู้ของนักเรียนในชั้นเรียนคณิตศาสตร์จะเกิดขึ้นเมื่อครูมีสถานการณ์ให้ฝึกเรียนรู้เท่านั้น โดยสถานการณ์ที่ครูสร้างขึ้นนั้นจะมีความหมายก็ต่อเมื่อนักเรียนเข้าใจแนวคิดทางคณิตศาสตร์แล้ว ดังนั้น สถานการณ์ที่ครูกำหนดขึ้นต้องถูกเลือกมาจากทั้งเนื้อหาทางคณิตศาสตร์และรูปแบบการฝึกทักษะที่ครูต้องการ ซึ่งแนวคิดใหม่ ๆ จะเกิดขึ้นได้จากการคิดคำนวณ การจัดเตรียมสื่อ และเวลาเพื่อให้แน่ใจว่าแนวคิดนั้นจะถูกดูดซึมเข้าสู่แนวคิดของนักเรียน

Clarke V. (2003, 28) กล่าวว่า การสอนคณิตศาสตร์ควรคำนึงถึงสถานการณ์ในชีวิตจริงและท้าทายนักเรียนให้แก้ปัญหานั้น ครูต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เชิญชวนให้นักเรียนอยากค้นหาคำตอบ อยากสร้างแนวคิดหรือความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ใหม่ ๆ ครูอาจจะให้งานที่เปิดกว้าง เช่น การศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเลขศูนย์หรือจำนวนตรรกยะ หรือครูอาจจะมอบหมายภาระงานที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์เนื้อหาทางคณิตศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น สมการกำลังสองที่นำเสนอในรูปแบบของพื้นผิวของรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งจะทำให้นักเรียนต้องประยุกต์ความรู้ที่ตนเองมีไปสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ต่อยอดองค์ความรู้เดิม

สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2549, 113) กล่าวว่า วิธีการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์นั้นมีหลายวิธี เช่น การสอนแบบบรรยาย การสอนแบบสาธิต การทดลอง การถาม-ตอบ การแก้ปัญหา การสอนแบบอุปนัย การสอนแบบนิรนัย ถ้าจะกล่าวว่าการสอนวิธีใดดีกว่ากันนั้นคงจะพูดได้ยาก เพราะแต่ละวิธีนั้นก็มีข้อดีและข้อจำกัดต่างกันออกไป ครูควรมีสมรรถภาพในการเลือกวิธีการสอนให้เหมาะสมกับเนื้อหาในแต่ละเรื่อง อย่างไรก็ตาม ครูควรเป็นผู้สอนให้นักเรียนได้รู้จักคิดเป็น และสามารถค้นหาความจริงได้ด้วยตนเอง 

จะเห็นได้ว่าวิธีการสอนคณิตศาสตร์นั้นไม่ได้ถูกเฉพาะเจาะจงลงไปว่าวิธีใดดีที่สุด นักการศึกษาแสดงความคิดเห็นว่าควรเลือกวิธีการสอนให้เหมาะสม เนื่องจากวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีธรรมชาติเป็นนามธรรมและเนื้อหาแต่ละหัวข้อมีความสัมพันธ์กันในลักษณะขั้นบันได คือ ต้องเข้าใจเนื้อหาพื้นฐานก่อนจึงเข้าใจเนื้อหาในระดับที่สูงขึ้นไป นักเรียนที่มีพื้นฐานไม่ดีพอจึงมีอุปสรรคอย่างมากในการเรียนในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลถึงอารมณ์และความรู้สึกเบื่อหน่ายและอยากหลีกหนีชั้นเรียนและเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ในอนาคต ดังนั้น ครูคณิตศาสตร์จึงต้องเลือกวิธีการสอนให้เหมาะสมกับเนื้อหา ความสามารถ และความสนใจของนักเรียน


วิธีสอนคณิตศาสตร์

จากการเรียบเรียงและสังเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารของนักการศึกษา ได้แก่ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2549, 197-297) และทิศนา แขมมณี.  (2555, 320-381)  สามารถสรุปวิธีการสอนที่เหมาะสมกับวิชาคณิตศาสตร์ได้ ดังนี้

1. วิธีสอนแบบบรรยายหรือแบบอธิบายแสดงเหตุผล (Lecture)

     1.1 ความหมาย

   วิธีสอนแบบบรรยายหรือแบบการอธิบายเหตุผล หมายถึง วิธีสอนที่ครูผู้สอนเป็นผู้บอกให้นักเรียนคิดตามเนื้อหาที่ครูต้องการสอน ครูจะพยายามวิเคราะห์ ชี้แจง ตีความ และสรุปให้นักเรียนเข้าใจ ส่วนใหญ่นักเรียนจะเป็นผู้ฟัง ไม่ค่อยมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนมากนัก นอกจากการตอบคำถามและซักถามเรื่องที่ไม่เข้าใจ ดังนั้น ครูจึงควรมีสื่อการเรียนการสอนที่เป็นรูปธรรมประกอบการบรรยายหรือการยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นถึงการนำไปใช้ 

              1.2 วิธีสอน

               1) ครูเตรียมเนื้อหาที่จะสอน

       2) เมื่อเริ่มสอนให้ดึงความสนใจของผู้เรียนโดยการนำเสนอสิ่งเร้า เช่น ข่าว เพลง เกม เหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ หรือใช้การทดสอบก่อนเรียน

       3) สอนโดยใช้การบอกเล่า อธิบาย เปรียบเทียบ บอกสูตร ยกตัวอย่าง เขียนภาพหรือแผนภาพประกอบการบรรยาย ใช้สไลด์ ภาพยนตร์ หรือสื่อที่เป็นรูปธรรมอื่น ๆ พร้อมซักถามขณะสอนเป็นระยะ

       4) ประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน

     1.3 ประโยชน์และข้อจำกัด

1) ประโยชน์

   1.1) ใช้สอนนักเรียนจำนวนมากได้ในเวลาเดียวกัน

   1.2) ถ่ายทอดเนื้อหาได้คราวละมาก ๆ ในระยะเวลาอันสั้น

   1.3) เตรียมการสอนได้สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา 

2) ข้อจำกัด

    2.1) เป็นวิธีการสอนที่ไม่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่สามารถตอบสนองนักเรียนได้ทั่วถึง 

    2.2) นักเรียนมีบทบาทน้อย พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และความคิดด้านอื่น ๆ ได้ยาก นักเรียนเกิดความเบื่อหน่ายได้ง่าย

    2.3) ครูผู้สอนต้องใช้ความสามารถด้านการบรรยายสูง หากไม่มีศิลปะในการสอนจะทำให้นักเรียนไม่สนใจเรียน ไม่กล้าซักถาม 


  2. วิธีสอนแบบใช้การสาธิต (Demonstration)

     2.1 ความหมาย

  วิธีสอนแบบใช้การสาธิต หมายถึง การแสดงหรือทำสิ่งที่ต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่วางไว้ โดยการใช้สื่อการสอนที่เป็นรูปธรรม ให้นักเรียนสังเกต อภิปราย ซักถาม และสรุปข้อความรู้ที่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่นักเรียนได้รับความรู้จากประสบการณ์ตรง

    2.2 วิธีสอน

           1) ครูเตรียมเนื้อหาที่จะสอนพร้อมสื่อการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม

2) แสดง ทำ หรือสาธิตให้นักเรียนสังเกตเห็นถึงมโนทัศน์ที่สำคัญ

3) นักเรียนอภิปรายและสรุปข้อสังเกต ข้อความรู้ที่ได้จากสังเกตการสาธิต เชื่อมโยงความรู้ที่เป็นรูปธรรมไปสู่นามธรรมได้

4) ประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน

   2.3 ประโยชน์และข้อจำกัด

1) ประโยชน์

   1.1) ใช้สอนนักเรียนจำนวนมากได้ในเวลาเดียวกัน

   1.2) ประหยัดเวลา อุปกรณ์ และค่าใช้จ่าย

   1.3) นักเรียนติดตามขั้นตอนหรือกระบวนการในการเรียนรู้อย่างเป็นลำดับ ใกล้ชิด ทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง จำได้ดีและจำได้นาน

   1.4) ดึงดูดความสนใจของนักเรียนได้ดี ฝึกทักษะการสังเกตและการสรุปผล  

2) ข้อจำกัด

    2.1) หากครูใช้สื่อการสอนขนาดเล็กหรือสาธิตเร็วเกินไปจะทำให้นักเรียนตามไม่ทันและไม่เข้าใจในสิ่งที่ครูต้องการสื่อสารกับนักเรียน

    2.2) ขณะที่ครูสาธิตจะไม่สามารถสังเกตหรือควบคุมชั้นเรียนได้อย่างทั่วถึง

    2.3) หากครูไม่เตรียมทดลองสาธิตก่อนทำการสอน อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจ


3. วิธีสอนแบบใช้คำถาม (Questioning)

     3.1 ความหมาย

  วิธีสอนแบบใช้คำถาม หมายถึง การมุ่งให้ความรู้แก่นักเรียนด้วยการ ถาม-ตอบ โดยครูจะใช้วิธีการถามสอดแทรกกับวิธีการสอนแบบอื่น ๆ ซึ่งครูอาจจะใช้คำถามเป็นระยะ หรือถามต่อเนื่องจนกระทั่งนักเรียนสามารถสรุปองค์ความรู้นั้นได้

    3.2 วิธีสอน

           1) ครูเตรียมเนื้อหาที่จะสอนพร้อมคำถามและคำตอบ

2) สอดแทรกคำถามให้ตรงตามจุดประสงค์ที่วางไว้

3) นักเรียนฟัง คิดตาม และสรุปองค์ความรู้ที่ได้

4) ประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน

   3.3 ประโยชน์และข้อจำกัด

1) ประโยชน์

   1.1) ใช้สำหรับเนื้อหาที่ไม่สามารถใช้สื่อที่เป็นรูปธรรมได้

   1.2) ดึงดูดความสนใจของนักเรียน ฝึกการคิด และการสรุปองค์ความรู้ที่ได้จากการคิด

2) ข้อจำกัด

    2.1) เหมาะสมกับเนื้อหาเพียงบางหัวข้อ

    2.2) หากนักเรียนไม่ตั้งใจฟังจะทำให้ไม่สามารถตอบคำถามได้

    2.3) ครูต้อเลือกใช้คำถามที่เหมาะสมและถูกต้อง


4. วิธีสอนแบบใช้การทดลอง (Experiment)

     4.1 ความหมาย

  วิธีสอนแบบใช้การทดลอง หมายถึง วิธีการสอนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนลงมือทำด้วยตนเอง ตั้งสมมติฐาน สังเกต ทดลอง และสรุปโดยใช้สื่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งนักเรียนสามารถนำความรู้ที่เป็นรูปธรรมไปสู่นามธรรมได้ 

    4.2 วิธีสอน

         1) ครูเตรียมเนื้อหาที่จะสอนพร้อมอุปกรณ์ในการทดลอง

2) ครูให้ความรู้ที่จำเป็นในการทดลอง

3) นักเรียนลงมือทำการทดลองตามคำสั่งหรือคู่มือการทดลอง

4) นักเรียนวิเคราะห์ อภิปราย และสรุปผลการทดลอง

5) ครูร่วมอภิปรายผลและสรุปองค์ความรู้

6) ประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน

 4.3 ประโยชน์และข้อจำกัด

1) ประโยชน์

   1.1) นักเรียนได้ลงมือทำการทดลองด้วยตนเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้ เกิดความเข้าใจ และหากทดลองสำเร็จจะเกิดความภาคภูมิใจและมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์

   1.2) เป็นการเชื่อมโยงความรู้จากรูปธรรมไปสู่นามธรรม

   1.3) นักเรียนได้พัฒนาทักษะจำนวนมาก เช่น ทักษะการคิด ทักษะการทำงานกลุ่ม ทักษะการวิเคราะห์ ทักษะการค้นคว้าหาความรู้

   1.4) นักเรียนมีอิสระในการทำงาน มีส่วนร่วมในกิจกรรม ทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการเรียน

2) ข้อจำกัด

    2.1) ใช้เวลาในการสอนมาก

    2.2) ต้องเตรียมอุปกรณ์ในการสอนแต่ละครั้งจำนวนมาก

    2.3) เหมาะสมกับบางบทเรียน

    2.4) การทดลองที่ไม่เหมาะสมหรือยากเกินความสามารถของนักเรียนอาจทำให้นักเรียนทดลองไม่สำเร็จหรือไม่เข้าใจการทดลอง


5. วิธีสอนแบบโครงการ (Project)

     5.1 ความหมาย

  วิธีสอนแบบโครงการ หมายถึง การที่นักเรียนทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งตามหัวข้อที่สนใจอย่างอิสระ โดยมีครูให้ความช่วยเหลือ แนะนำ และประเมินผลงาน

    5.2 วิธีสอน

           1) ครูให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทำโครงการ

2) นักเรียนเลือกหัวข้อโครงการตามความสนใจโดยครูให้คำแนะนำ

3) นักเรียนทำโครงการจนสำเร็จ

4) ประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน

   5.3 ประโยชน์และข้อจำกัด

1) ประโยชน์

   1.1) นักเรียนมีโอกาสในการทำงานด้วยตนเอง ได้แสดงความสามารถ ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา วินัยในการทำงาน เสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง

   1.2) นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าอย่างอิสระ

2) ข้อจำกัด

    2.1) ใช้เวลามาก

    2.2) หากครูไม่ดูแลอย่างใกล้ชิดอาจไม่ประสบความสำเร็จในการทำโครงการ

    2.3) อาจเกิดการไม่สามัคคีกันในกลุ่มทำงาน

    2.4) ขาดการฝึกฝนที่เน้นเป็นรายบุคคล


    6. วิธีสอนแบบใช้บทเรียนโปรแกรม (Programmed Instruction)

     6.1 ความหมาย

  วิธีสอนแบบใช้บทเรียนโปรแกรม หมายถึง การให้นักเรียนศึกษาจากบทเรียนสำเร็จรูปด้วยตนเอง ซึ่งแตกต่างจากบทเรียนปกติ คือ บทเรียนโปรแกรมจะนำเนื้อหามาแตกเป็นหน่วยย่อย (small steps) เพื่อให้ง่ายต่อการเรียน โดยที่นักเรียนสามารถตอบสนองต่อสิ่งที่เรียน และตรวจสอบการเรียนรู้ของตนเองได้ทันที (immediately feedback) นักเรียนแต่ละคนจะใช้เวลาในการเรียนรู้มากน้อยต่างกันตามความสามารถ มีแบบทดสอบก่อนเรียน (pre-test) และ แบบทดสอบหลังเรียน (post-test) ครูจะช่วยเหลือเมื่อจำเป็น

    6.2 วิธีสอน

         1) ครูเลือกเนื้อหาและทำบทเรียนโปรแกรม

2) นักเรียนอ่านคำชี้แจงและลงมือทำบทเรียนโปรแกรม

3) ครูให้คำแนะนำและช่วยเหลือนักเรียนที่ไม่ผ่านหรือไม่เข้าใจบทเรียน

4) นักเรียนเรียนตามลำดับขั้นตามบทเรียนโปรแกรมด้วยความซื่อสัตย์

5) ประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน

   6.3 ประโยชน์และข้อจำกัด

1) ประโยชน์

   1.1) ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักศึกษาด้วยตนเอง

   1.2) นักเรียนศึกษาตามความสามารถของตนเอง เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล

   1.3) ลดภาระครู แก้ปัญหาการขาดแคลนครู

   1.4) นักเรียนมีอิสระในการเรียน

   1.5) ฝึกความซื่อสัตย์และความมีวินัยของนักเรียน

2) ข้อจำกัด

    2.1) หากบทเรียนโปรแกรมไม่มีคุณภาพหรือคุณภาพไม่ดีจะส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน

    2.2) ครูต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจ ใช้ความสามารถ และมีความชำนาญในการจัดทำบทเรียนโปรแกรมที่มีคุณภาพ

    2.3) บทเรียนโปรแกรมที่ไม่สามารถดึงดูดความสนใจของนักเรียนจะส่งผลต่อการเรียนรู้

    2.4) บทเรียนโปรแกรมที่ยืดยาวเกินไปจะทำให้นักเรียนเบื่อ

    2.5) ไม่สามารถแทนครูได้โดยสมบูรณ์

    2.6) หากนักเรียนไม่ซื่อสัตย์จะทำผลการเรียนรู้ไม่ตรงกับความรู้ที่แท้จริงของนักเรียน


วิธีสอนที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในวิธีสอนคณิตศาสตร์ที่ยังมีวิธีสอนอีกเป็นจำนวนมาก ครูคณิตศาสตร์จึงต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และนำวิธีการสอนที่สนใจมาทดลองสอนในชั้นเรียนของตนเองให้เหมาะสมกับลักษณะหรือลีลา (style) ในการสอนและเหมาะสมกับเนื้อหาที่ใช้สอน ที่สำคัญที่สุด คือ การมุ่งเป้าไปที่ความรู้ความเข้าใจของนักเรียน อีกประการหนึ่งคือ ประสบการณ์ในการสอนจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ครูคณิตศาสตร์สามารถจัดการเรียนการสอนที่ดี มีคุณภาพ เป็นไปตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในวิชาชีพของตน ครูจึงไม่ควรท้อในการเลือกวิธีสอนเพราะไม่มีใครที่ประสบความสำเร็จโดยสมบูรณ์แบบตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำงาน ขอเพียงอดทน มุ่งมั่น ค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ รู้จักปรับปรุง และแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด ยึดมั่นในจรรยาบรรณ และอุดมการณ์ ย่อมเป็นครูคณิตศาสตร์ที่ดีได้อย่างแน่นอน


อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น