ในศตวรรษที่ 21 คณิตศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่กว้างใหญ่และมีมุมมองที่หลากหลาย เช่น มุมมองในส่วนของเนื้อหาสาระ ไม่ว่าจะเป็นแคลคูลัส ตรีโกณมิติ กราฟ ฟังก์ชัน ฯลฯ มุมมองของคณิตศาสตร์ในธรรมชาติ เช่น จำนวนกลีบดอกไม้ การซื้อขาย หุ้น สัดส่วนความงามของใบหน้า ฯลฯ หรือมุมมองในแง่ของการใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือหรือเป็นภาษาในเนื้อหาวิชาอื่น ๆ เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาสถิติ วิชาชีววิทยา งานวิจัย ฯลฯ คริลลี โทนี (2555: 19) กล่าวว่า คณิตศาสตร์ได้ครอบคลุมโลกเฉกเช่นสเปกตรัมที่แผ่กว้าง มันดูเหมือนโลกที่ถูกปิดผนึก มีปริศนา มีความซับซ้อน มีความท้าทายที่ทำให้คนต้องการค้นหา และเราจำเป็นจะต้องมีนักคณิตศาสตร์ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
การจะสร้างคนให้มีพื้นฐานความรู้ทางคณิตศาสตร์เพื่อให้มีมุมมองในด้านต่าง ๆ และสามารถนำเนื้อหาคณิตศาสตร์ที่เรียนในโรงเรียนไปใช้ไนอนาคตได้เป็นอย่างดีนั้น ครู อาจารย์ และนักศึกษาครูคณิตศาสตร์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจถึงความหมายของคณิตศาสตร์ ธรรมชาติของคณิตศาสตร์และโครงสร้างของคณิตศาสตร์ เพื่อจะได้ทำการถ่ายทอดความรู้ทางคณิตศาสตร์อย่างรู้เท่าทันธรรมชาติของรายวิชา สามารถชี้ให้นักเรียนเห็นความสำคัญและประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในหัวข้อต่าง ๆ อย่างมีความหมายและสอดคล้องกับชีวิตประจำวัน
ความหมายของคณิตศาสตร์ Meaning of Mathematics
“คณิตศาสตร์คืออะไร” มีผู้คนมากมายต้องการค้นหาความหมายของคำนี้
นักวิชาการ ครู อาจารย์ นักการศึกษา พจนานุกรมต่าง ๆ รวมถึงผู้ที่สนใจในคณิตศาสตร์ ได้กล่าวถึงความหมายของคณิตศาสตร์ไว้ ดังนี้
- คณิตศาสตร์ คือ วิชาคำนวณ
- คณิตศาสตร์ คือ ศาสตร์ที่มุ่งค้นคว้าเกี่ยวกับโครงสร้างนามธรรม
- คณิตศาสตร์ คือ วิชาที่สนใจรูปร่างและจำนวน
- คณิตศาสตร์ คือ ความรู้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ
- คณิตศาสตร์ คือ รากฐานแห่งความเจริญในด้านต่าง ๆ
- คณิตศาสตร์ คือ ภาษาอย่างหนึ่งที่มีความเฉพาะตัว
- คณิตศาสตร์ คือ เครื่องมือของนักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์
- คณิตศาสตร์ คือ การสื่อสารข้อมูลจากความรู้สึก ความคิด ที่ชัดเจน ถูกต้อง เป็นสากล
- คณิตศาสตร์ คือ ศิลปะที่มีความเป็นระเบียบและกลมกลืน
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) (2555ก: 1) ได้กล่าวถึงความหมายของคณิตศาสตร์ไว้ว่า คณิตศาสตร์ คือ วิชาที่ว่าด้วยเหตุผล กระบวนการคิด และการแก้ปัญหา คณิตศาสตร์จึงเป็นวิชาที่ช่วยเสริมสร้างให้นักเรียนเป็นคนมีเหตุผล มีการคิดอย่างมีจารณญาณและเป็นระบบ ตลอดจนมีทักษะการแก้ปัญหา ทำให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์ได้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบ สามารถคาดการณ์ วางแผน ตัดสินใจ และแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ยิ่งกว่านั้น คณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดจนศาสตร์อื่น ๆ ทำให้มีการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมากมายในทุกวันนี้
อัมพร ม้าคะนอง (2557: 2) กล่าวว่า การให้ความหมายของคณิตศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะการใช้งานคณิตศาสตร์ ในอดีตการเรียนรู้คณิตศาสตร์มุ่งเน้นการใช้จำนวนและการคิดเลขในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีกิจกรรมทางสังคมอย่างเรียบง่าย แต่ในปัจจุบันการใช้งานคณิตศาสตร์มีความซับซ้อนมากขึ้น ความรู้คณิตศาสตร์บางอย่างที่เรียนในอดีตอาจไม่เพียงพอต่อการใช้งานในปัจจุบัน
แมกโดนัลด์ ชารอน (2559: 10) กล่าวว่า คณิตศาสตร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจำนวน เหตุการณ์ วัตถุ ระบบ และวัฏจักร แน่นอนว่าคณิตศาสตร์เกี่ยวข้องกับการคำนวณ และยังเกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นระบบอีกด้วย
Courant, R., & Robbins, H. (1996: preface) กล่าวว่า คณิตศาสตร์ คือ การสะท้อนความคิดของมนุษย์จากการไต่ตรองเหตุผล และความต้องการความงามหรือสุนทรียภาพในด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์แบบ โดยมีพื้นฐานมาจากการใช้ตรรก สัญชาตญาณ การคิดวิเคราะห์ โครงสร้าง ความเป็นกรณีทั่วไป และความเป็นเอกลักษณ์ โดยพื้นที่หรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอาจจะให้ความหมายที่แตกต่างกันไปเพราะความแตกต่างในมุมมองด้านประโยชน์และคุณค่าของคณิตศาสตร์
Andrews, P & Rowland, T. (Ed, 2014) กล่าวว่า ในการให้ความหมายของคำว่าคณิตศาสตร์มีความแตกต่างกันไปตามมุมมองที่มีต่อธรรมชาติของคณิตศาสตร์ นักวิชาการ ครู นักเรียน และคนที่อยู่ในสังคมที่แตกต่างกัน นับว่ามันมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในแง่มุมที่มีต่อคณิตศาสตร์ของนักปรัชญา จุดประสงค์ของการสอนคณิตศาสตร์ ผลลัพธ์ในมุมมองของนักเรียน ความเชื่อและทัศนคติ และการแสดงออกของนักเรียนในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ และเนื่องจากความซับซ้อนที่ว่ามานี้ทำให้การวัดผลการเรียนรู้เป็นเรื่องที่ยาก
Boaler, Jo (2015: 16) กล่าวว่า คณิตศาสตร์ คือ กิจกรรมของมนุษย์, ปรากฏการณ์ทางสังคม, เป็นชุดของวิธีการที่ช่วยในการมองโลก และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า คณิตศาสตร์ คือ ศาสตร์หรือวิชาที่กล่าวถึงโครงสร้างที่เป็นนามธรรมของเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับการคำนวณและรูปทรงซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาสาขาวิชาต่าง ๆ มีความเป็นสากล มีระบบแบบแผน เป็นสาระที่ช่วยพัฒนาความคิดของมนุษย์และทำให้โลกมีความเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ที่สนใจศึกษาและให้ความสำคัญต่อองค์ความรู้ของคณิตศาสตร์รวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์ซึ่งแตกต่างกันไปตามมุมมองของแต่ละบุคคลและแต่ละอาชีพ
อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น