หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

การสอนเรื่องความหมายของคณิตศาสตร์

 

การสอนในชั้นเรียนให้นักเรียนเข้าใจและสามารถอธิบายถึงความหมายของคณิตศาสตร์ได้นั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายในการจัดการเรียนการสอนของครูคณิตศาสตร์ แต่นับเป็นหัวข้อที่สำคัญที่ส่งผลต่อทัศนคติต่อรายวิชา ซึ่งครูคณิตศาสตร์ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าทัศนคตินั้นส่งผลต่อการเรียนและการทำกิจกรรมของนักเรียน มีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาเกี่ยวกับทัศนคติต่อรายวิชาคณิตศาสตร์ เช่น งานวิจัยของเมธี ศรีบุญเรือง (2558) ได้ทำวิจัย เรื่อง ทัศนคติที่มีต่อวิชาคณิตศาสตร์ในชั้นเรียนที่ใช้กิจกรรมแบบดาราทีบีเอ็มของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ งานวิจัยของสมศรี วิเศษลา และนิตยา เปลื้องนุช (2553) ทำวิจัยเรื่อง ผลการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบ 4MAT งานวิจัยของเมธาสิทธิ์ ธัญรัตนศรีสกุล(2558) ทำวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม และงานวิจัยของงามพร้อม อ่อนบัวขาว และหล้า ภวภูตานนท์ (2557) ทำวิจัยเรื่อง การศึกษาการเปลี่ยนแปลงมโนมติทางคณิตศาสตร์ เรื่อง เส้นขนานโดยการัดกิจกรรมซ่อมเสริมสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 งานวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นนี้ล้วนแล้วแต่เป็นงานวิจัยที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับทัศนคติในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน ความรู้สึก ปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อทัศนคติ และหาวิธีแก้ไขปรับปรุงรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูเพื่อให้นักเรียนมีทัศนคติและผลการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ดีขึ้น 
จากเนื้อหาในหัวข้อความหมายของคณิตศาสตร์จะเห็นได้ว่า คณิตศาสตร์มีหลายความหมายขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ว่าเกี่ยวข้องในด้านใดหรือนำคณิตศาสตร์ไปใช้ประโยชน์อะไร ดังนั้นพฤติกรรมการสอนในหัวข้อนี้ ครูจึงควรยืดหยุ่นกับคำตอบของนักเรียน ไม่ไปจำกัดหรือกำหนดกรอบของคำตอบให้ถูกต้องหรือตรงกับความหมายของพจนานุกรม นักวิชาการ นักการศึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียง ครูควรยอมรับคำตอบทุกคำตอบของนักเรียน และช่วยยกตัวอย่างเสริมพร้อมกับคำตอบที่ช่วยกระตุ้นความคิด และความกล้าแสดงออกของนักเรียน ดังบทสนทนาในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ ต่อไปนี้
ตัวอย่างบทสนทนาเรื่องความหมายของคณิตศาสตร์
ครู : ขอให้นักเรียนแต่ละคนช่วยบอกความหมายของคำว่า “คณิตศาสตร์” ตามความคิด
ของนักเรียนนะคะว่าหมายถึงอะไร
มะลิ : คือ วิชาที่เราเรียนอยู่นี่ล่ะค่ะ
ครู : ดีค่ะ มะลิ มีความหมายอื่นอีกไหมคะ
กุหลาบ : คือ ตัวเลขค่ะ
ครู : ดีค่ะ กุหลาบ เอ้า ช่วยกันอีกค่ะ พูดถึงคณิตศาสตร์ คิดถึงอะไรอีกคะ
บอล : คิดถึงเงินที่ต้องจ่ายเวลาไปเซเว่นครับ
บาส : คิดถึงคะแนนที่ครูจะให้ครับ
...
สถานการณ์ข้างต้นเรียกว่าการใช้คำถามปลายเปิด (Open Ended Problem) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ครูควรทำให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในชั้นเรียน โดยเฉพาะในรายวิชาคณิตศาสตร์ที่ลักษณะการสอนของครูมักจะสร้างกรอบการคิดและขอบเขตการตอบที่จำกัดและเฉพาะเจาะจง ส่งผลระยะยาวต่อทัศนคติที่มีต่อรายวิชาคณิตศาสตร์ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ววิชาคณิตศาสตร์มีกระบวนการได้มาซึ่งคำตอบหลากหลายวิธี
การสอนให้นักเรียนเข้าใจถึงความหมายของคณิตศาสตร์นั้น ครูสามารถสอนหัวข้อนี้ได้ทั้งในต้นภาคเรียน กลางภาคเรียน หรือท้ายภาคเรียน และสามารถสอนได้ทุกระดับชั้น โดยคำนึงถึงพัฒนาการและจิตวิทยาของแต่ละช่วงวัยเป็นสำคัญ หากครูสอนหัวข้อนี้ในระดับชั้นประถมศึกษา ครูต้องใช้สถานการณ์ที่แคบหรือเฉพาะเจาะจงให้มาก ใช้เกม นิทาน หรือสื่อที่เร้าความสนใจเพื่อให้เห็นความหมายของคณิตศาสตร์ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวและแฝงอยู่ในทุกวิชาและทุกสถานการณ์

ตัวอย่างกิจกรรมความหมายของคณิตศาสตร์
ชื่อกิจกรรม M A T H in my eyes

ขั้นตอนการทำกิจกรรม
  1. แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3-4 คน
  2. แต่ละกลุ่มรับอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมจากครู ได้แก่ กระดาษร้อยปอนด์ 1 แผ่น, สีชอล์ค 1 กล่อง
  3. ครูเขียนตัวอักษร M A T H บนกระดาน แล้วให้นักเรียนช่วยกันเขียนความหมายของตัวอักษรแต่ละตัวลงบนกระดาษที่แจกให้ และเรียบเรียงความหมายของแต่ละตัวร้อยเรียงเป็นเรื่องราวความหมายของคณิตศาสตร์
  4. นักเรียนช่วยกันระบายสี ตกแต่งผลงานให้สวยงาม
  5. นักเรียนออกมานำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน
  6. นักเรียนแสดงความคิดเห็นต่อผลงานของเพื่อนแต่ละกลุ่ม
อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น