หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

พัฒนาการของนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา

ความแตกต่างของช่วงอายุมีผลต่อรูปแบบการจัดการเรียนการสอน รวมไปถึงลักษณะพฤติกรรม ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจ พรรณี ชูชัย เจนจิต (2550, 127-142) และ อัชรา เอิบสุขสิริ (2556, 99-101) ได้กล่าวถึงพัฒนาการของนักเรียนในระดับชั้นต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยผู้เขียนได้รวบรวมและสรุปพัฒนาของนักเรียนได้ดังนี้

1.1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3

     1) ลักษณะทางร่างกาย (Physical Characteristics) 

        1.1) มีความคล่องแคล่ว ว่องไว ไม่อยู่นิ่ง ชอบหากิจกรรมทำตลอดเวลา ในขณะเรียนอาจจะมีพฤติกรรมขีดเขียน ม้วนผม ขยำกระดาษ ฯลฯ

        1.2) กล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงเต็มที่ หากมีกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อเป็นเวลานานนักเรียนจะเมื่อยล้า อารมณ์ไม่ดี เบื่อหน่าย 

        1.3) ระบบสายตายังไม่สมบูรณ์ การอ่านตัวหนังสือขนาดเล็กหรืออ่านเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อสายตาในอนาคต

        1.4) ภูมิคุ้มกันโรคไม่ดี ป่วยง่าย ติดเชื้อโรคได้ง่าย

                1.5) มักทำกิจกรรมโลดโผนโดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น

     คำแนะนำสำหรับครู ครูควรหากิจกรรมที่ไม่ใช้เวลามาก ไม่เน้นการอ่านเอกสารจำนวนมาก ๆ เพียงอย่างเดียว เอกสารที่นักเรียนต้องอ่านควรมีตัวหนังสือขนาดใหญ่ มีเวลาให้นักเรียนได้พักผ่อนขณะเรียนเป็นระยะ ๆ ไม่เข้มงวดจนฝืนธรรมชาติของช่วงวัย ระวังอันตรายหรืออุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ไม่ปล่อยให้เล่นตามลำพัง และควรแยกนักเรียนที่ป่วยออกจากนักเรียนกลุ่มอื่นทันทีเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

    2) ลักษณะทางสังคม (Social Characteristics)

        2.1) เลือกคบเพื่อน มีกลุ่มเพื่อนสนิท มีการทะเลาะเบาะแว้ง 

        2.2) ชอบเล่นเกม ชอบการแข่งขัน เคารพกติกาอย่างเคร่งครัด ไม่ยืดหยุ่น จริงจัง

        2.3) ใช้คำพูดก้าวร้าว รู้จักการใช้กำลังต่อสู้กัน

        2.4) ชอบคุยโอ้อวด ชอบคำชม

                2.5) ความสนใจในกิจกรรมแตกต่างระหว่างเพศหญิงและเพศชายชัดเจน 

    คำแนะนำสำหรับครู จับตาดูพฤติกรรมของนักเรียนอย่างใกล้ชิด หากพบคู่กรณีที่มักจะทะเลาะกันอยู่บ่อยครั้ง ให้รีบแก้ไขปรับความเข้าใจ แนะนำการใช้คำพูดที่เหมาะสม ไม่ก้าวร้าว ไม่โอ้อวด แนะนำวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ไม่ใช้กำลัง จัดกิจกรรมให้ครอบคลุมและยุติธรรมระหว่างเพศหญิงและเพศชาย ครูต้องมีกติกาในการทำกิจกรรมที่รอบคอบ และสอนให้รู้จักให้อภัยและยอมรับความพ่ายแพ้

    3) ลักษณะทางสติปัญญา (Cognitive Characteristics) 

               3.1) เชื่อในแรงจูงใจจากคนรอบข้าง

       3.2) มักจะพูดโดยไม่คิดไตร่ตรองหรือคำนึงถึงเหตุผล ชอบพูดมากกว่าเขียน

       3.3) ช่างสังเกต เปรียบเทียบการกระทำหรือความสามารถของผู้ใหญ่และตนเอง 

       3.4) ไม่เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม 

       3.5) คิดหรือกระทำคล้อยตามแนวคิดเพื่อน

       3.6) เข้าใจคำว่าถูกและผิด

       3.7) นักเรียนหญิงมักจะเก่งด้านภาษา นักเรียนชายมักจะเก่งด้านคณิตศาสตร์

       3.8) นักเรียนหญิงมักจะกระทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่พึงพอใจหรือต้องการ นักเรียนชายมักจะกระทำตามใจตนเอง

       3.9) มีความแตกต่างกันในรูปแบบของความรู้ความเข้าใจ (Cognitive Stlye) สูง

    คำแนะนำสำหรับครู สร้างแรงจูงใจในทางที่ดีให้กับนักเรียน ให้โอกาสนักเรียนได้พูดทุกคน โดยไม่ต้องเน้นเฉพาะคำตอบที่ถูก ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีตลอดเวลา พยายามอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม มีสื่อ จับต้องได้ หรือเปรียบเทียบให้เห็นภาพ จัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย

     4) ลักษณะทางอารมณ์ (Emotional Characteristics)

                4.1) ไม่เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น

        4.2) ชอบการชมเชยและยอมรับ อ่อนไหวง่ายต่อคำตำหนิ

        4.3) ต้องการการทำงานที่ทำให้ผู้ใหญ่พึงพอใจ มีความรับผิดชอบ

     คำแนะนำสำหรับครู อธิบายความรู้สึกของคนรอบข้างต่อการกระทำต่าง ๆ ชมเชย ไม่ตำหนิรุนแรง สอนให้ควบคุมอารมณ์ กระจายงานและความรับผิดชอบให้ทั่วถึง

1.2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6

     1) ลักษณะทางร่างกาย (Physical Characteristics) 

        1.1) นักเรียนหญิงเจริญเติบโตรวดเร็วกว่านักเรียนชาย รูปร่างเปลี่ยนไปเข้าสู่วัยสาว

        1.2) เริ่มสนใจเรื่องเพศ 

        1.3) ทำงานที่ใช้ความละเอียดรอบคอบได้ดี มีความอดทน 

        1.4) กระดูกยังไม่แข็งแรง

                1.5) นักเรียนชายชอบใช้ความรุนแรง

     คำแนะนำสำหรับครู ให้คำแนะนำเรื่องเพศและสรีระด้วยความเข้าใจ อ่อนโยน สร้างความมั่นใจให้นักเรียนหญิงที่กังวลในรูปร่างที่เปลี่ยนไปของตนเอง ให้ทำกิจกรรมที่ใช้ความคิดและความสามารถ ท้าทาย และใช้เวลาในการทำกิจกรรมนาน ๆ ได้ ระวังการใช้กำลังของนักเรียนชายที่เกินกว่าวัย

    2) ลักษณะทางสังคม (Social Characteristics)

        2.1) เชื่อเพื่อนมากกว่าครูและผู้ปกครอง

        2.2) ชอบทำตัวเด่น แปลก ต้องการเป็นที่ยอมรับ

        2.3) ต้องการอิสระ 

        2.4) ชอบความท้าทาย

                2.5) มักจะแข่งขันการทำกิจกรรมระหว่างกลุ่มนักเรียนหญิงและกลุ่มนักเรียนชาย

        2.6) ชอบทำกิจกรรมเป็นทีม

                2.7) แอบชอบหรือชื่นชมคนที่มีอายุมากกว่าหรือคนที่เป็นที่สนใจของสังคม เช่น นักดนตรี นักกีฬา นักร้อง คนเรียนเก่ง 

    คำแนะนำสำหรับครู เข้าใจธรรมชาติของช่วงวัย ให้คำแนะนำในสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ ไม่เข้มงวดจนเกินไป ไม่เน้นการแข่งขันระหว่างนักเรียนหญิงและนักเรียนชาย จัดกิจกรรมเป็นกลุ่ม 

    3) ลักษณะทางสติปัญญา (Cognitive Characteristics) 

               3.1) อยากรู้อยากเห็น สนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก แต่สนใจในเวลาสั้น ๆ 

       3.2) มีความคาดหวังในการทำงานหรือทำกิจกรรมสูง

       3.3) ทุ่มเทในการทำงานหรือกิจกรรมมาก 

       3.4) ต้องการการสนับสนุนและกำลังใจ 

    คำแนะนำสำหรับครู เข้าใจธรรมชาติของวัยหากนักเรียนเปลี่ยนความสนใจอย่างรวดเร็ว ให้คำแนะนำและกำลังใจในการทำงานหรือทำกิจกรรม ให้รู้จักภูมิใจในการทำงาน ไม่ชื่นชมแต่ผลมากจนเกินไป เมื่อล้มเหลวหรือผิดพลาดควรให้กำลังใจและสอนให้เข้าใจธรรมชาติในการทำงานที่อาจมีทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จตามผลที่คาดหวัง

              4) ลักษณะทางอารมณ์ (Emotional Characteristics)

                4.1) ต้องการการยอมรับ ความขัดแย้งที่เกิดจากข้อตกลงของกลุ่มอาจก่อให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรง

        4.2) เข้าใจเหตุผล เข้าใจเรื่องคุณธรรมจริยธรรม

     คำแนะนำสำหรับครู ไม่เข้มงวดเกินไป ไม่บังคับให้ทำกิจกรรมที่นักเรียนไม่ยอมรับ ทำตามข้อตกลง สอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมโดยการแสดงความคิดเห็น ไม่เน้นการท่องจำ


อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น