หน้าเว็บ

วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

การเลือกวิธีสอนคณิตศาสตร์


การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในอดีตนั้นมักจะเน้นการท่องจำ กฎ ทฤษฏี สูตร และการทำแบบฝึกหัดจำนวนมาก ๆ การวัดและประเมินผลก็มีเพียงคะแนนจากข้อสอบแบบปรนัยที่ใช้สอบกลางภาคเรียนและปลายภาคเรียน แต่ปัจจุบันรูปแบบการจัดการเรียนการสอนได้เปลี่ยนไป หลักสูตรมีตัวชี้วัด มีมาตรฐาน และสมรรถนะที่หลากหลาย ไม่ได้เน้นเฉพาะการสอนเนื้อหาเท่านั้น แต่ยังเพิ่มส่วนของทักษะกระบวนการและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในชั้นเรียนด้วย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) (2555: 7) กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ได้มุ่งเน้นไปที่การจัดการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาคณิตศาสตร์ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนได้คิดและมองเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคณิตศาสตร์กับสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีความหมายและสามารถนำสิ่งที่เรียนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงได้

ดังนั้น หน้าที่ของครูคณิตศาสตร์ในปัจจุบันนี้ นอกจากจะเป็นผู้ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนในด้านเนื้อหาสาระ ทักษะ และกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ตลอดจนการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ถูกต้องดีงามแล้ว ครูจะต้องสร้างความตระหนักและทำให้นักเรียนมองเห็นว่า คณิตศาสตร์มีคุณค่า มีอยู่รอบตัว อยู่ในชีวิตประจำวัน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตได้ ครูจะต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีการถกและอภิปรายเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์ ซึ่งไม่เพียงแต่ผ่านการสนทนาหรือการอภิปรายเท่านั้น แต่นักเรียนควรจะมีความเข้าใจและซาบซึ้งในการใช้คณิตศาสตร์ด้วย ครูคณิตศาสตร์จึงต้องรู้จักวิธีการสอนและรูปแบบการสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหาหรือหัวข้อต่าง ๆ 

นักการศึกษาหลายท่านได้กล่าวถึงวิธีการสอนไว้หลายวิธี เมื่อรวบรวมแล้วพบว่ามีมากกว่า 50 วิธี ครูผู้สอนจึงมีทางเลือกที่หลากหลายในการใช้วิธีการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียนในชั้นเรียนของตน มีนักการศึกษาจำนวนหนึ่งกล่าวถึงการเลือกวิธีสอนคณิตศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
Wadhwa S. (2006, 7) กล่าวว่า ในชั้นเรียนคณิตศาสตร์สมัยใหม่ ก่อนที่ครูจะพิจารณาถึงวิธีการสอนจะต้องคำนึงถึงประเด็นพื้นฐาน 2 ประเด็น คือ 1. ครูต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจนถ่องแท้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดทางคณิตศาสตร์กับพื้นฐานการคำนวณที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาตามแนวคิดนั้น 2. ความรู้ของนักเรียนในชั้นเรียนคณิตศาสตร์จะเกิดขึ้นเมื่อครูมีสถานการณ์ให้ฝึกเรียนรู้เท่านั้น โดยสถานการณ์ที่ครูสร้างขึ้นนั้นจะมีความหมายก็ต่อเมื่อนักเรียนเข้าใจแนวคิดทางคณิตศาสตร์แล้ว ดังนั้น สถานการณ์ที่ครูกำหนดขึ้นต้องถูกเลือกมาจากทั้งเนื้อหาทางคณิตศาสตร์และรูปแบบการฝึกทักษะที่ครูต้องการ ซึ่งแนวคิดใหม่ ๆ จะเกิดขึ้นได้จากการคิดคำนวณ การจัดเตรียมสื่อ และเวลาเพื่อให้แน่ใจว่าแนวคิดนั้นจะถูกดูดซึมเข้าสู่แนวคิดของนักเรียน
Clarke V. (2003, 28) กล่าวว่า การสอนคณิตศาสตร์ควรคำนึงถึงสถานการณ์ในชีวิตจริงและท้าทายนักเรียนให้แก้ปัญหานั้น ครูต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เชิญชวนให้นักเรียนอยากค้นหาคำตอบ อยากสร้างแนวคิดหรือความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ใหม่ ๆ ครูอาจจะให้งานที่เปิดกว้าง เช่น การศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเลขศูนย์หรือจำนวนตรรกยะ หรือครูอาจจะมอบหมายภาระงานที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์เนื้อหาทางคณิตศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น สมการกำลังสองที่นำเสนอในรูปแบบของพื้นผิวของรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งจะทำให้นักเรียนต้องประยุกต์ความรู้ที่ตนเองมีไปสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ต่อยอดองค์ความรู้เดิม
สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2549, 113) กล่าวว่า วิธีการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์นั้นมีหลายวิธี เช่น การสอนแบบบรรยาย การสอนแบบสาธิต การทดลอง การถาม-ตอบ การแก้ปัญหา การสอนแบบอุปนัย การสอนแบบนิรนัย ถ้าจะกล่าวว่าการสอนวิธีใดดีกว่ากันนั้นคงจะพูดได้ยาก เพราะแต่ละวิธีนั้นก็มีข้อดีและข้อจำกัดต่างกันออกไป ครูควรมีสมรรถภาพในการเลือกวิธีการสอนให้เหมาะสมกับเนื้อหาในแต่ละเรื่อง อย่างไรก็ตาม ครูควรเป็นผู้สอนให้นักเรียนได้รู้จักคิดเป็น และสามารถค้นหาความจริงได้ด้วยตนเอง 

จะเห็นได้ว่าวิธีการสอนคณิตศาสตร์นั้นไม่ได้ถูกเฉพาะเจาะจงลงไปว่าวิธีใดดีที่สุด นักการศึกษาแสดงความคิดเห็นว่าควรเลือกวิธีการสอนให้เหมาะสม เนื่องจากวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีธรรมชาติเป็นนามธรรมและเนื้อหาแต่ละหัวข้อมีความสัมพันธ์กันในลักษณะขั้นบันได คือ ต้องเข้าใจเนื้อหาพื้นฐานก่อนจึงเข้าใจเนื้อหาในระดับที่สูงขึ้นไป นักเรียนที่มีพื้นฐานไม่ดีพอจึงมีอุปสรรคอย่างมากในการเรียนในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลถึงอารมณ์และความรู้สึกเบื่อหน่ายและอยากหลีกหนีชั้นเรียนและเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ในอนาคต ดังนั้น ครูคณิตศาสตร์จึงต้องเลือกวิธีการสอนให้เหมาะสมกับเนื้อหา ความสามารถ และความสนใจของนักเรียน

อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น