หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2566

การสอน ความหมาย และความสำคัญของ "การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น"

สาระการวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็นสาระที่กล่าวถึงการกำหนดประเด็น การเขียนข้อคำถาม การกำหนดวิธีการศึกษา การเก็บรวบรวมข้อมูล การจัดระบบข้อมูล การนำเสนอข้อมูล ค่ากลางและการกระจายของข้อมูล การวิเคราะห์และการแปลความข้อมูล การสำรวจความคิดเห็น ความน่าจะเป็น การใช้ความรู้เกี่ยวกับสถิติและความน่าจะเป็นในการอธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ และช่วยในการตัดสินใจในการดำเนินชีวิตประจำวัน (กระทรวงศึกษาธิการ, 2552: 57) สาระที่กล่าวถึงนี้นับเป็นสาระที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันที่ครูสามารถยกตัวอย่างสถานการณ์หรือโจทย์ปัญหาที่เป็นรูปธรรมมาอธิบายในหัวข้อต่าง ๆ ได้ เป็นเรื่องราวของสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่ต้องใช้ทักษะการสังเกต การวิเคราะห์ การรวบรวมข้อมูล และแก้ปัญหาหรือสรุปผลที่ได้จากกระบวนการทั้งหมด เช่น ราคาสบู่จากร้านค้าใดที่มีราคาถูกที่สุด น้ำหนักเฉลี่ยของนักเรียนชั้น ป.2 ค่าใช้จ่ายต่อเดือนของครอบครัว เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นสาระที่เป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพทุกอาชีพ ดังนั้นการปลูกฝังทักษะต่าง ๆ และการสร้างความรู้ความเข้าใจในสาระการวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็นนั้นเป็นสิ่งที่ครูต้องให้ความสำคัญและสอนด้วยความเข้าใจและใส่ใจ

ความหมายของการวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น

การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น เป็นการนำเอาคำศัพท์ทางคณิตศาสตร์ที่สำคัญสองคำมาไว้ด้วยกันคือคำว่า “การวิเคราะห์ข้อมูล” และ “ความน่าจะเป็น” ซึ่งทั้งสองคำนี้ถือว่าเป็นคำที่สำคัญมากสำหรับการเรียนการสอนในวิชาคณิตศาสตร์ มีนักวิชาการได้ให้ความหมายไว้ ดังนี้

ราชบัณฑิตยสถาน (2556) ให้ความหมายของคำว่าวิเคราะห์ ว่า หมายถึง ใคร่ครวญ แยกออกเป็นส่วน ๆ เพื่อศึกษาให้ถ่องแท้ และความหมายของข้อมูล หมายถึง ข้อเท็จจริง หรือสิ่งที่ถือหรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง สำหรับใช้เป็นหลักอนุมานหาความจริงหรือการคำนวณ อาจกล่าวได้ว่า การวิเคราะห์ข้อมูล หมายถึง การศึกษาข้อเท็จจริงสำหรับใช้เป็นหลักอนุมานหาความจริงหรือการคำนวณอย่างละเอียดถ่องแท้

แมกโดนัลด์ ชารอน (2559: 193) กล่าวว่า การวิเคราะห์ข้อมูล (data analysis) หมายถึงการแปลความหมายข้อมูลที่ได้เก็บสะสมมา เช่น ถ้าเด็กต้องการทราบว่ารองเท้าแบบใดได้รับความนิยมมากที่สุดในชั้นเรียน พวกเขาจะต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับรองเท้าแบบต่าง ๆ ที่ทุกคนในชั้นเรียนสวม

จากความหมายดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า การวิเคราะห์ข้อมูล หมายถึง การศึกษาข้อเท็จจริงหรือการแปลความหมายจากข้อมูลที่เก็บรวบรวมเพื่อวิเคราะห์และคำนวณหาข้อสรุป

ริว กิอัน (2558: 46) กล่าวว่า ความน่าจะเป็น คือ การหาค่าที่ใช้ประเมินเหตุการณ์ที่เราสนใจ แต่เหตุการณ์นั้นยังไม่เกิดขึ้น โดยพิจารณาว่าจะมีโอกาสเกิดเหตุการณ์ในแบบที่เราสนใจมากน้อยแค่ไหน

แมกโดนัลด์ ชารอน (2559: 122) กล่าวว่า ความน่าจะเป็น (probability) จะมุ่งไปที่ผลลัพธ์ของเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แล้วประเมินว่ามีโอกาสที่ผลลัพธ์นั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่

จากความหมายดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า ความน่าจะเป็น หมายถึง โอกาสในการเกิดเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น โดยมุ่งไปที่เหตุการณ์ที่เราสนใจเพื่อหาผลของการเกิดความน่าจะเป็นของเหตุการณ์นั้น ๆ


แนวคิดสำคัญของการวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น

หลักของความน่าจะเป็นมีต้นกำเนิดมาจากการพนัน เมื่อกว่า 300 ปีมาแล้วที่ เชอวาลิเอ เดอ เมเร (Chevalier de Méré) นักพนันชาวฝรั่งเศสแพ้พนันในเกมทอดลูกเต๋า ทำให้เขารู้สึกสงสัยในผลที่เกิดขึ้นจากเกม เพราะผลขัดแย้งระหว่างสิ่งที่คิดกับประสบการณ์ จึงนำความสงสัยนี้ไปปรึกษา เบลส์ ปาสกาล (Blaise Pascal) เพื่อนที่เป็นนักคณิตศาสตร์ และปาสกาลได้นำปัญหานี้ไปปรึกษาปีแอร์ เดอ แฟร์มา (Pierre de Fermat) การปรึกษาหารือทำให้ปาสกาลและแฟร์มาคิดสร้างทฤษฎีเรื่องความน่าจะเป็น ซึ่งเรียกว่า “หลักการ

พื้นฐานของทฤษฎีความน่าจะเป็น” นี่เป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาค้นคว้าเรื่องความน่าจะเป็นจวบจนปัจจุบัน (วรนารถ อยู่สุข, 2559: 27)

การจัดการเรียนการสอนเรื่องความน่าจะเป็น โดยทั่วไปมักจะให้นักเรียนทดลองโดยใช้สิ่งของง่ายๆ เพื่อให้สามารถเห็นว่าผลลัพธ์จากการทดลองมีโอกาสเกิดขึ้นได้ต่างๆ กัน เช่น การโยนเหรียญ การทอดลูกเต๋าหรือการสุ่มหยิบลูกบอลจากถัง นอกจากตัวอย่างดังกล่าวนี้แล้วครูอาจกระตุ้นให้นักเรียนมีความสนใจในบทเรียนนี้มากขึ้นโดยการยกตัวอย่างสถานการณ์ที่มีในชีวิตจริง หรือเสริมด้วยเหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของนักเรียน เช่น การจับสลากแลกของขวัญ, การสุ่มเพลงจากรายการเพลงใน YouTube, การแกะของเล่นที่ได้จากไข่ Surprise, การสุ่มตัวแทนนักเรียนออกไปร้องเพลงหน้าห้องเรียน เป็นต้น

แนวคิดสำคัญในการสอนสาระการวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น คือ การใช้ทักษะการคิด สังเกต วิเคราะห์ เพื่อตีความสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งครูควรกำหนดสถานการณ์ปัญหาที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันโดยอาจให้นักเรียนช่วยกำหนดสถานการณ์ปัญหาด้วยจะทำให้กระบวนการคิดแก้ปัญหานั้นเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเพราะเป็นสถานการณ์ปัญหาที่เกิดจากประสบการณ์เดิมของนักเรียน นอกจากนั้นครูควรให้นักเรียนเขียนแผนภาพ แผนภูมิ หรือกราฟ เพื่อแสดงถึงแนวคิดที่นำไปสู่การหาค่าความน่าจะเป็นของนักเรียน

อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น