หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2566

ความหมายและแนวคิดสำคัญของ "การวัด"

การวัด เป็นสาระที่กล่าวถึงเนื้อหาเกี่ยวกับความยาว ระยะทาง น้ำหนัก พื้นที่ ปริมาตร และความจุ เงิน และเวลา หน่วยวัดระบบต่าง ๆ การคาดคะเนเกี่ยวกับการวัด อัตราส่วนตรีโกณมิติการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการวัด และการนำความรู้เกี่ยวกับการวัดไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2552: 56) นับเป็นเนื้อหาที่สนุก ออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้หลากหลาย เป็นเนื้อหาที่เป็นรูปธรรม เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน จึงนับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับครูที่จะต้องออกแบบการสอนและใช้สื่อประกอบการสอนที่ทำให้นักเรียนสนุกกับเนื้อหา เชื่อมโยงเนื้อหากับชีวิตประจำวันให้นักเรียนมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน ไม่ใช่การอ่านจากกระดาษ หรือการวัดด้วยสายตา 

ความหมายของการวัด

การวัด เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทุกวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน เช่น เวลาตื่นนอน เวลาที่ใช้เดินทางไปโรงเรียน เงินค่าขนม เส้นทางไปร้านค้า ความสูงของอาคาร ฯลฯ ความรู้เกี่ยวกับการวัดจึงเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก และเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพทุกอาชีพ บางอาชีพใช้ความรู้ด้านการวัดเพียงพื้นฐาน แต่บางอาชีพต้องใช้ความรู้ด้านการวัดในระดับที่ลึกซึ้ง เช่น วิศวกร สถาปนิก เทคนิคการแพทย์ เป็นต้น มีนักการศึกษาได้กล่าวถึงความหมายของการวัด ดังนี้

ราชบัณฑิตยสถาน (2556) ให้ความหมายของคำว่าการวัด ไว้ว่า การวัด หมายถึง ขนาดหรือปริมาณของสิ่งต่าง ๆ เช่น วัดส่วนยาว ส่วนกว้าง ส่วนสูง หรือความรู้ เป็นต้น 

แมกโดนัลด์ ชารอน (MacDonald, Sharon. 2559: 62) กล่าวว่า การวัด (measurement) คือ การหาปริมาณของสิ่งหนึ่งแล้วให้ค่าเป็นตัวเลขที่มีหน่วยวัด ซึ่งจะช่วยให้สามารถนำผลของการวัดสิ่งหนึ่งไปเปรียบเทียบกับผลของการวัดสิ่งอื่นได้เมื่อใช้หน่วยวัดเดียวกัน ดังนั้น การวัดจึงตอบคำถามที่ว่า “สิ่งนี้มีมากกว่า น้อยกว่า หรือเท่ากัน” ได้ การวัดโดยทั่วไปจะมีหน่วยวัดที่เป็นมาตรฐาน เช่น กรัม นิ้ว กิโลเมตร วินาที เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เราสามารถวัดเป็นหน่วยที่ไม่เป็นมาตรฐานได้ด้วย เช่น วัดค่าด้วยความยาวของรองเท้า

แวนคลิฟ เจนิช (VanCleave, Janice. 2558. 147) กล่าวว่า การวัด คือ กระบวนการหาปริมาณของสิ่งต่าง ๆ เช่น การวัดความยาว การวัดพื้นที่ การวัดน้ำหนัก การวัดอุณหภูมิ เป็นต้น เราอาจใช้หน่วยมาตรฐานหรือหน่วยวัดที่กำหนดขึ้นเองหรือหน่วยไม่มาตรฐานก็ได้ หน่วยวัดมาตรฐาน คือ หน่วยวัดที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป เช่น นิ้ว ถ้วย ลิตร กรัม ปอนด์ องศาฟาเรนไฮต์ องศาเซลเซียส เป็นต้น การวัดปริมาณในหน่วยมาตรฐานจะใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น ไม้บรรทัด ถ้วยตวง เครื่องชั่ง เทอร์มอมิเตอร์ หน่วยไม่มาตรฐาน เป็นหน่วยที่เรากำหนดขึ้นเองโดยใช้เครื่องมือวัดอะไรก็ได้ เช่น การวัดความกว้างของหนังสือด้วยลวดเสียบกระดาษ หรือใช้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว รวมทั้งอวัยวะในร่างกายของเรา เช่น มือ นิ้ว เท้า

จากความหมายดังกล่าวข้างต้นจึงสามารถสรุปความหมายของคำว่าการวัดได้ว่า การวัด หมายถึง การหาขนาดหรือปริมาณของสิ่งต่าง ๆ โดยมีหน่วยเป็นตัวกำกับ หน่วยการวัดมี 2 ชนิด คือ หน่วยมาตรฐาน และหน่วยไม่มาตรฐาน


แนวคิดสำคัญของการวัด

การสอนสาระการวัด ไม่ว่าจะเป็นการวัดความยาว การชั่งน้ำหนัก การบอกเวลา การอ่านอุณหภูมิ การวัดความสูง การจ่ายเงิน ฯลฯ ครูต้องคำนึงถึงพัฒนาการของนักเรียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้เกณฑ์มาตรฐานการสอนหัวข้อและรายละเอียดความลึกซึ้งของเนื้อหาสาระครูสามารถศึกษาได้จากหลักสูตรสถานศึกษาหรือหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขึ้นพื้นฐานได้ 

การสอนสาระการวัดโดยใช้สถานการณ์เข้ามาเป็นตัวดำเนินการจะทำให้นักเรียนไม่เครียด ลดความกดดันในเนื้อหา สามารถเชื่อมโยงความรู้เดิมที่มีอยู่ให้เข้ากับความรู้ใหม่ที่ครูต้องการสอนในชั้นได้ดี เนื่องจากเนื้อหาสาระเรื่องการวัดเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันที่นักเรียนต้องพบเจอ นอกจากนั้นครูควรใช้อุปกรณ์ในการวัดที่นักเรียนสามารถจับต้องได้จะทำให้การเรียนการสอนในสาระนี้สนุกและนักเรียนจะจดจำเนื้อหาได้เป็นอย่างดี

ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่สามารถนำมาเสริมในสาระนี้ได้เป็นอย่างดี ได้แก่ ความสมเหตุสมผล การแก้ปัญหา และความคิดสร้างสรรค์ เช่น การเลือกใช้เครื่องมือวัดที่เหมาะสม การเลือกวิธีการคำนวณที่เหมาะสม การเลือกกระบวนการแก้สถานการณ์ปัญหาที่เหมาะสม การเลือกหน่วยการวัดหรือการแปลงหน่วยการวัดที่เหมาะสม การคิดค้นกระบวนการแก้ปัญหาในสถานการณ์ปัญหาที่กำหนดให้ การคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ หรือวิธีการที่หลากหลายในการวัด 

อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น