หน้าเว็บ

วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ครูคณิตศาสตร์มืออาชีพ Professional Mathematics Teacher

การประกอบอาชีพครูนั้นมีกระบวนการบ่มเพาะหลายขั้นตอนตั้งแต่การเข้าศึกษาต่อเฉพาะทางด้านการสอนคณิตศาสตร์จากคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยสถาบันที่ผลิตครูจะสอนวิชาเอกและวิชาชีพครูให้กับนักศึกษาตามโครงสร้างหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจาก สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) และคุรุสภาว่าเป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพสามารถผลิตบัณฑิตด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ได้ เมื่อเรียนในชั้นปีสุดท้ายนักศึกษาครูต้องออกฝึกปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาเพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับการบ่มเพาะมาปฏิบัติจริงและได้รับการประเมินจากอาจารย์นิเทศและครูพี่เลี้ยงว่าสามารถประกอบอาชีพครูได้ จนกระทั่งนักศึกษาจบการศึกษาเป็นบัณฑิต บัณฑิตทั้งหลายจึงจะเข้ารับการสอบบรรจุในอัตราครูที่ว่างในแต่ละปี นั่นคือเส้นทางของการประกอบอาชีพครูที่นับว่ายาวนานและเข้มข้น อย่างไรก็ตามการเป็นครูคณิตศาสตร์มืออาชีพนั้นต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ บ่มเพาะความเป็นครู และประสบการณ์ที่เข้มข้นยิ่งกว่าการเป็นนักศึกษาครู

ความหมายของครูคณิตศาสตร์มืออาชีพ

     ครูคณิตศาสตร์นับเป็นผู้ที่ประกอบวิชาชีพครูที่ผ่านการบ่มเพาะความเป็นครูมากจากสถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรทางการศึกษาที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นครูผู้สอนในสาขาวิชาใด ๆ ความเป็นครูมืออาชีพนั้นถือว่าเป็นคุณลักษณะที่มีร่วมกัน มีนักการศึกษาได้ให้ความหมายของครูมืออาชีพไว้ ดังนี้

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2553: 7) กล่าวว่า ลักษณะของครูมืออาชีพ หมายถึง เครื่องหมายที่ชี้ให้เห็นความเป็นวิชาชีพชั้นสูงหรือคุณลักษณะที่ดีของครูอันเป็นที่ต้องการของสังคม ที่ครูต้องมีความรักและความเมตตาต่อศิษย์ เสียสละ หมั่นเพียรศึกษา ปรับปรุงวิธีการสอนเพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เอาใจใส่ต่อศิษย์ทุกคน เป็นกำลังใจและช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิษย์ เพื่อให้เป็นคนใฝ่รู้ใฝ่เรียน เป็นแบบอย่างที่ดีมีจรรยาบรรณ มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล รักความยุติธรรม ยอมรับและเข้าใจความแตกต่างของเด็กแต่ละคน มีอุดมการณ์ ยึดมั่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมีคุณธรรมยึดเหนี่ยวจิตใจของตนเอง โดยมีปัจจัยส่งเสริมของความเป็นครูที่ดี คือ 

    1) อุดมการณ์ของครู 

    2) คุณลักษณะของความเป็นครูที่ดี 

    3) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

    4) คุณธรรมที่ใช้ในการปฏิบัติงาน

วัลนิกา ฉลากบาง (2559: 124) กล่าวว่า ครูมืออาชีพ หมายถึง บุคคลที่เป็นครูด้วยใจรัก มีความรู้ ความสามารถ และความพร้อมในทุกด้านที่จะเป็นครู วางตัวดี ดำรงชีวิตอย่างมีวินัย มีคุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณ วิชาชีพ ปฎิบัติหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณความเป็นครูในการอบรม สั่งสอน ดูแล เอาใจใส่ศิษย์อย่างสุดความสามารถโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

สจีรัตน์ แจ้งสุข และคณะ (2559: 35) กล่าวว่า ครูมืออาชีพ คือ ครู ที่เป็นครูด้วยใจรักเสียสละเพื่อศิษย์มีมานะอดทน ไม่เห็นแก่ อามิสสินจ้างใด ๆ และมีความปรารถนาสูงสุดคือการสร้างลูกศิษย์ ให้เป็นคนดี คนเก่งและมีสุข

อารีรัตน์ เพ็งสีแสง และ ดร.ประยุทธ ชูสอน (2558: 104) กล่าวว่า ครูมืออาชีพ หมายถึง พฤติกรรม ของครู ที่แสดงให้เห็นถึงการวางแผนการสอน อบรม มีความรักและความเมตตาต่อศิษย์ เสียสละ หมั่นเพียร ศึกษาปรับปรุงวิธีการสอนเพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ มีการใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้เอาใจใส่ต่อศิษย์ทุกคน เป็นกำลังใจและเป็นแบบอย่างที่ดี มีจรรยาบรรณ มีจิตวิญญาณของความเป็นครู

มยุรี ด้วงศรี (2558: 42) กล่าวว่า ครูมืออาชีพ คือ ผู้ที่มีอาชีพครูด้วย ใจรัก   มีความพร้อมในทุก ๆ ด้านที่จะเป็นครู ประพฤติตัวดี วางตัวดี เอาใจใส่และดูแลศิษย์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครูด้วยคุณธรรมของครูตามหลักพุทธศาสนา คือ ปฏิบัติ ตนเป็นครูตามครุธรรม 7 ประการ ได้แก่ น่ารัก ครูเป็นผู้มีบุคลิกภาพที่ชวนให้เข้าหาครูน่าวางใจ ครูผู้แนะแนวต้องมีลักษณะที่น่าไว้วางใจ น่าเจริญใจ รู้จักพูดหรือพูดเป็น รู้จักฟังหรือฟังเก่ง แถลงเรื่องลึกซึ้งได้เมื่อผู้เรียนมีปัญหาที่ยาก ไม่ชักจูงไปในทางที่ผิด คุณธรรมเหล่านี้เป็นหลักธรรมพื้นฐานที่ครูจะต้องประพฤติปฏิบัติและสิ่งที่เสริมให้ครูมีความโดดเด่นและมีเสน่ห์ในการดึงดูดนักเรียนให้ สนใจการเรียนได้ก็คือ เทคโนโลยีและภาษาอังกฤษ

จากความหมายของครูมืออาชีพที่กล่าวมาข้างต้น สามารถกล่าวถึงความหมายของครูคณิตศาสตร์มืออาชีพได้ว่า เป็นครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม เป็นคนดี มีคุณธรรม มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน ใฝ่หาความรู้ที่ทันสมัย หมั่นปรับปรุงตนเอง องค์ความรู้ และทักษะในการสอนอย่างสม่ำเสมอ จากข้อสรุปนี้จะเห็นได้ว่าการเป็นครูคณิตศาสตร์มืออาชีพนั้นต้องเกิดมาจากภายจิตใจของตัวครูจึงจะสามารถปฏิบัติคุณลักษณะต่าง ๆ ของความเป็นครูมืออาชีพได้ ทุกคนจึงสามารถเป็นครูมืออาชีพได้ ไม่ยากเกินความสามารถของผู้ที่มีใจรักในความเป็นครูเป็นต้นทุน

คุณลักษณะของครูคณิตศาสตร์มืออาชีพ

     จากการสังเคราะห์องค์ความรู้เรื่องคุณลักษณะของครูมืออาชีพของ ประสาท เนืองเฉลิม (2559) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2553) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) (2555) สามารถกล่าวถึงคุณลักษณะของครูคณิตศาสตร์มืออาชีพได้ ดังนี้

    1) มีความรู้ในเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ที่ถูกต้องแม่นยำ

    2) สอนคณิตศาสตร์ให้น่าตื่นเต้น น่าสนใจ

    3) สอนวิชาคณิตศาสตร์โดยการเน้นให้นักเรียนค้นพบวิธีการแก้ปัญหาและค้นหาคำตอบด้วยตนเอง โดยใช้คำถามและกระบวนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

    4) ใช้สื่อประกอบการสอนที่เหมาะสมกับวัยและเนื้อหาในวิชาคณิตศาสตร์

    5) ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและให้ความรู้สึกเชิงบวกเพื่อกระตุ้นการทำงานของสมองและสร้างแรงจูงใจในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์

    6) สามารถรอคอยการแก้ปัญหาและการตอบคำถามในเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ได้ ไม่เร่งเร้าหรือตำหนิการตอบคำถามช้า ไม่ตอบคำถามนั้น ๆ ด้วยตนเองโดยไม่รอคอยคำตอบจากนักเรียน

    7) ใช้การสื่อสารทางกาย ใช้มือ เดิน สบตา ยิ้ม หัวเราะ อย่างเป็นธรรมชาติ

    8) สังเกตสีหน้า แววตา และการแสดงออกของนักเรียนเพื่อที่ครูจะได้ปรับเปลี่ยนสถานการณ์ ช่วยแก้ปัญหา หรือช่วยแนะแนวทางในการเรียนและพฤติกรรมต่าง ๆ ในชั้นเรียนได้ทันท่วงที

    9) ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ตามความเหมาะสม

    10) เป็นครูคณิตศาสตร์ที่หมั่นทบทวนความรู้ คิดค้นเทคนิคและเสาะหาเทคนิคการสอน การคำนวณ การแก้โจทย์ปัญหา และทำวิจัยเพื่อพัฒนาการสอนของตนเอง

    11)     รัก เมตตา และยุติธรรมกับลูกศิษย์ทุกคน

    12)     ทำงานเต็มเวลา รับผิดชอบ และทุ่มเทในการสอน

จากคุณลักษณะของครูคณิตศาสตร์มืออาชีพที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าความเป็นมืออาชีพนั้นเกิดจากคุณธรรมขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทั่วไป ไม่ได้มีข้อใดที่ยากและเป็นไปไม่ได้ ทุกข้อที่กล่าวมาสามารถสรุปเป็นคำสั้น ๆ ได้ คือ “ครูเป็นคนดี” ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ทุกคนจึงเป็นครูมืออาชีพได้ขอเพียงยึดมั่นในความดีที่ทำ อย่างไรก็ตาม การเป็นครูมืออาชีพนั้นมักมีอุปสรรคมากมายทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก จึงมีนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและกำกับดูแลวิชาชีพครูจัดหลักสูตรอบรม สัมมนา ทำการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความเป็นมืออาชีพให้กับครูทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อสนับสนุน เผยแพร่องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นในวิชาชีพให้ทันสมัยผ่านรูปแบบการพัฒนาวิชาชีพครูที่เรียกว่า PLC (Professional Learning Community)

อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น