คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างจัดให้เป็นวิชาที่สำคัญในการจัดการศึกษา มีการวัดระดับความรู้ตั้งแต่ระดับชั้นเรียน กลุ่มโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา ระดับชาติ จนถึงระดับสากล นั่นเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าคณิตศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาศักยภาพของประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ (2551: 56) กล่าวว่า คณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่ง ต่อการพัฒนาความคิดมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ มีแบบแผน สามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือสถานการณ์ได้อย่างถี่ถ้วน รอบคอบ ช่วยให้คาดการณ์ วางแผน ตัดสินใจ แก้ปัญหา และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม นอกจากนี้คณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์อื่น ๆ คณิตศาสตร์จึงมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
วัชรี กาญจน์กีรติ (2554: 10) กล่าวว่า คณิตศาสตร์มีความสําคัญในการดํารงชีวิตของเราในสังคมเป็นอย่างมากเพราะเป็นวิชาที่มีความจําเป็นต้องใช้ในการประกอบอาชีพต่าง ๆ ในชีวิตประจําวัน ฝึกให้รู้จักคิดพิจารณา รู้จักใช้เหตุผลต่าง ๆ แก้ปัญหาที่ยุ่งยากได้อย่างมีระเบียบแบบแผน ซึ่งคณิตศาสตร์เป็นตัวสร้างให้เกิดความเข้าใจเร็วขึ้น
อัมพร ม้าคะนอง (2557:
4) กล่าวว่า
คณิตศาสตร์มีความสำคัญทั้งในแง่ของการใช้งานในชีวิตจริง
และการพัฒนาการศึกษาให้กับคนในสังคม จึงมีความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตและการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าในทุกยุคทุกสมัยอย่างต่อเนื่อง
และในปัจจุบันคณิตศาสตร์ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในมุมมองของการเป็นศาสตร์แห่งการพัฒนาความคิด
ความเป็นเหตุเป็นผล และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะชีวิต
Yasoda
(2009: 4) กล่าวว่า คณิตศาสตร์มักถูกมองเป็นเครื่องมือในการฝึกฝนความเฉลียวฉลาดของมนุษย์
เพราะต้องมีการคิดที่เป็นระบบ มีตรรก และมีความเที่ยงตรง ดังคำกล่าวของบรามะกับตา (Brahmagupta)
นักคณิตศาสตร์ชาวอินเดีย ผู้ยิ่งใหญ่ในยุคศตวรรษที่
8 ที่ว่า “หากต้องการฉายแววเด่นในการเรียนรู้ในสถาบัน ให้ศึกษาการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์”
จนเมื่อเราก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ก็ยังคงเห็นคณิตศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักเรียนทุกคน
แม้แต่นักการศึกษาในอดีตต่างก็ให้ความสำคัญกับวิชาคณิตศาสตร์ โดยให้ความเห็นว่า การพัฒนาความฉลาดและวัฒนธรรมของมนุษย์จะเป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจาก การเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ในหลากหลายสาขารอบตัวเรา
เช่น การบัญชี ธนาคาร ธุรกิจร้านค้า การตัดเย็บเสื้อผ้า งานไม้ การจัดเก็บภาษี
ประกันชีวิต ไปรษณีย์ ต่างก็ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์กลายเป็นรากฐานของระบบการค้าและธุรกิจ
ดังนั้นคณิตศาสตร์จึงไม่สามารถแยกออกจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ได้
Bruss
(2012: 298) กล่าวว่า คณะกรรมาธิการของรัฐบาลอังกฤษได้กล่าวถึงความสำคัญของคณิตศาสตร์ในการแถลงนโยบายด้านการศึกษาว่า
การคิดทางคณิตศาสตร์มีความสำคัญกับสมาชิกในโลกสมัยใหม่ทุกคนในฐานะที่เป็นอุปนิสัยทางความคิดสำหรับใช้ในที่ทำงาน
ธุรกิจ การเงิน และใช้ในการตัดสินใจ คณิตศาสตร์เป็นรากฐานแห่งความเจริญของชาติในการเป็นเครื่องมือสำหรับสร้างความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์
วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐศาสตร์
คณิตศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นในการตัดสินใจที่มีผลต่อส่วนรวมและเป็นส่วนหนึ่งของความรู้ทางเศรษฐกิจ
Borwein, J et al. (Eds.,
2002 :79) กล่าวว่า การเห็นความสำคัญของคณิตศาสตร์นั้นจะช่วยพัฒนาความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม
การประยุกต์ความรู้ทางคณิตศาสตร์เกิดขึ้นในหลากหลายสาขา เช่น ทางการแพทย์
วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ การศึกษาด้านอวกาศ ทักษะการเล่นหุ้น การทำธุรกิจ
การเมืองการปกครอง รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันด้วย
ซึ่งหลักการทางคณิตศาสตร์นั้นเกิดขึ้นและคงอยู่มาเป็นเวลาหลายล้านปีแล้ว
คณิตศาสตร์มีความเป็นสากลเพราะการแสดงออกทางคณิตศาสตร์ใช้ตัวเลขและสัญลักษณ์เป็นภาษา
ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ เยอรมัน หรือรัสเซีย
ซึ่งการใช้ภาษาทางคณิตศาสตร์นั้นจะช่วยให้เราสามารถตัดสินในงานที่สำคัญและภาระงานประจำวันได้ด้วย
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า
ความสำคัญของคณิตศาสตร์ คือ เป็นศาสตร์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
ช่วยพัฒนาความคิดให้เป็นระบบ ช่วยในการตัดสินใจและแก้ปัญหา ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต
รวมถึงเป็นศาสตร์ที่เป็นรากฐานของการพัฒนาวิทยาการด้านต่าง ๆ พัฒนาวิชาชีพ
ระบบการทำงาน และการใช้ชีวิตของคนในสังคม
นับเป็นศาสตร์ที่สำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ
การชี้ให้นักเรียนเห็นความสำคัญของคณิตศาสตร์จะทำให้นักเรียนคิดต่อยอดการเรียนเพื่อพัฒนาตนเองและใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและเรียนคณิตศาสตร์อย่างมีเป้าหมายเพื่อพัฒนา ไม่ใช่เพียงเพื่อการตัดสินผลการเรียนภายในชั้นเรียน
หรือการเปรียบเทียบ แข่งขัน ชิงอันดับที่ ซึ่งทำให้เกิดรูปแบบการเรียนโดยใช้การจดจำรูปแบบ
แต่ไม่ได้ฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์อย่างจริงจัง
ไม่เกิดการวิเคราะห์และสังเคราะห์ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดความจำระยะยาวหรือองค์ความรู้ที่ยั่งยืน
ตัวอย่างกิจกรรมการสอนเรื่องความสำคัญของคณิตศาสตร์
ขั้นตอนการทำกิจกรรม
1. แบ่งนักเรียนออกเป็น
5
กลุ่ม
2. ครูกำหนดพื้นที่ในห้องเรียนออกเป็น
5
พื้นที่ เท่าๆ กัน โดยใช้เทปกาวแปะลงบนพื้นห้องเพื่อกำหนดขอบเขต
3. ครูแจ้งสถานการณ์ปัญหา
คือ ให้นักเรียนปลูกหญ้าลงในบริเวณพื้นที่ของตนเอง
โดยให้ประมาณค่าจำนวนแผ่นของหญ้า (กระดาษสีเขียว)
ที่จะเอามาปลูกโดยไม่ให้ใช้เครื่องมือวัด แล้วมาซื้อหญ้ากับครูในราคาแผ่นละ 10
บาท กลุ่มใดปูได้พอดีไม่เหลือหญ้าที่ซื้อมาเลยจะเป็นผู้ชนะ
4. นักเรียนทำกิจกรรมอีกครั้งโดยใช้เครื่องมือวัด
จากกิจกรรมดังกล่าวจะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ความสำคัญในการใช้เครื่องมือวัดและการคำนวณที่ทำให้เกิดความแม่นยำ ประหยัด และคุ้มค่ามากที่สุดในสถานการณ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง นักเรียนสามารถเห็นความสำคัญของเนื้อหาที่เรียนและบูรณาการเอาองค์ความรู้และประสบการณ์มาใช้แก้ปัญหา ทั้งนี้ในชั้นเรียนอาจได้วิธีการใหม่ในการแก้สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ดีอย่างยิ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น