หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียนในชั้นเรียนคณิตศาสตร์

               การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนคณิตศาสตร์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่ครูทุกคนจะสามารถสอนและประสบความสำเร็จในการสอนได้ตั้งแต่คาบเรียนแรกที่เจอนักเรียนเนื่องจากธรรมชาติของรายวิชาที่เป็นนามธรรม ความซับซ้อนของเนื้อหา ขั้นตอนในการแก้ปัญหา และสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความแตกต่างระหว่างบุคคลในชั้นเรียน ครูและนักการศึกษาจำนวนมากพยายามหาวิธีการสอนวิชาคณิตศาสตร์โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อให้นักเรียนทุกคนในชั้นเรียนมีความเข้าใจในเนื้อหาและมีทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่เพียงพอต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น จากการศึกษาจากตำราและหนังสือด้านจิตวิทยาสามารถสรุปสาเหตุของความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ว่าเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

             1. ความแตกต่างระหว่างบุคคลที่เกิดจากพันธุกรรม

                พันธุกรรมเป็นคำที่แสดงถึงความสัมพันธ์ทางสายเลือด สืบต่อลักษณะต่าง ๆ มาจากครอบครัวโดยไม่ต้องผ่านการฝึกฝนและจัดบรรยากาศกระตุ้นการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ ณัฐกร อินทุยศ (2556, 88) กล่าวว่า พันธุกรรม (heredity) หมายถึง ลักษณะต่าง ๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษด้วยการสืบสายโลหิตผ่านทางยีน (gene) ซึ่งเป็นหน่วยพันธุกรรมเล็ก ๆ ที่อยู่บนโครโมโซม (chromosome) สิ่งที่ถ่ายทอดมากพันธุกรรมของมนุษย์นั้น ได้แก่

1)     ลักษณะทางกาย เช่น รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ

2)     เพศและลักษณะทางเพศ

3)     ชนิดของเลือด

4)     ระดับสติปัญญา

5)     โรคบางชนิด

6)     พฤติกรรมบางอย่างที่เกิดจากยีน

                จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ครูต้องระลึกว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทั้ง 6 ข้อนั้นเป็นสิ่งที่นักเรียนเองไม่สามารถกำหนดชีวิตตนเองได้ ครูจึงต้องศึกษาเพื่อทำความเข้าใจ ไม่ซ้ำเติม และจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถของนักเรียน มีครูจำนวนหนึ่งนำปัจจัยด้านพันธุกรรมนี้มาตัดสินนักเรียนโดยใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม เช่น “เธอไม่ฉลาดเหมือนพี่สาว” “แม่เธอเป็นคนคิดเลขไว ทำไมเธอไม่เหมือนแม่” “เธอเรียนเก่งเพราะพ่อเธอเก่ง” ซึ่งคำกล่าวเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นในชั้นเรียนเพราะพันธุกรรมไม่ใช่สาเหตุเดียวที่นักเรียนมีความแตกต่างกัน  

            2.    ความแตกต่างระหว่างบุคคลที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม

                   สิ่งแวดล้อม คือ สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งณัฐกร อินทุยศ (2556, 92) กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมแบ่งได้ 3 ประเภท คือ สิ่งแวดล้อมก่อนเกิด สิ่งแวดล้อมขณะเกิด และสิ่งแวดล้อมหลังเกิด ทั้งนี้ ครูควรศึกษาประวัติและรู้ภูมิหลังของนักเรียน ถึงแม้ว่าครูสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมให้นักเรียนได้เพียงประเภทเดียว คือ สิ่งแวดล้อมหลังเกิด แต่การทราบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมก่อนเกิดและขณะเกิดจะทำให้ครูเข้าใจนักเรียนและสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนได้มาก

                 สิ่งแวดล้อมก่อนเกิด เป็นเรื่องที่เกิดจากพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมของมารดา ในขณะตั้งครรภ์มารดาควรได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเพียงพอต่อความต้องการของมารดาและบุตรในครรภ์ พบแพทย์ตามกำหนด รับประทานวิตามินและรับการตรวจเลือดเพื่อป้องกันและแก้ไขโรคที่เกิดขึ้นจากพันธุกรรม มารดาควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษ และการทำงานหนักที่ส่งผลต่อบุตรในครรภ์ ต้องระมัดระวังการใช้ผลิตภัณฑ์และเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมที่เป็นพิษต่อครรภ์ หากไม่สบายมารดาต้องปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนรับประทานยาเพราะยาบางชนิดส่งผลให้ลูกเกิดความผิดปกติหรือพิการได้ นอกจากนี้สุขภาพจิตของมารดาเป็นสิ่งสำคัญ มารดาควรรักษาจิตใจให้ร่าเริง แจ่มใส หมั่นกำหนดลมหายใจ ทำสมาธิ และทำกิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลายและจิตใจสงบ เช่น ฟังเพลง

                   สิ่งแวดล้อมขณะเกิด ได้แก่ การที่มารดาได้รับบาดเจ็บขณะคลอด การใช้เครื่องมือช่วยคลอด วิธีการคลอดที่เสี่ยงอันตรายและไม่เหมาะกับสรีระของมารดา ความไม่เชี่ยวชาญของแพทย์ทำคลอด การคลอดที่ยาวนาน ซึ่งมีผลต่อ       การผิดปกติหรือพิการของเด็กได้

                    สิ่งแวดล้อมหลังเกิด เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเด็กหลังจากเกิดมาแล้ว ประกอบไปด้วย

                    1)   บ้านหรือครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดของเด็ก เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม ดังนั้น การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่และบุคคลในครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่ต้องทุ่มเทและเอาใจใส่เพื่อให้ลูกมีพื้นฐาน   ในการใช้ชีวิตที่ดี เป็นคนดี เลี้ยงดูตนเองได้ มีงานวิจัยและการศึกษาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าครอบครัวนั้นมีผลต่อพฤติกรรมของเด็กมากเพียงใด เช่น งานวิจัยของวิไลลักษณ์ ทองคำบรรจง และคณะ (2554, 104) ได้ทำวิจัยเรื่องปัจจัยเชิงเหตุและผลของพฤติกรรมติดอินเทอร์เน็ตของนักเรียนมัธยมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่าพฤติกรรมติดเกมออนไลน์ ติดสนทนาออนไลน์ และพฤติกรรมการเรียนที่เหมาะสม ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมากครอบครัว งานวิจัยของอรพินทร์ ชูชม, สุภาพร ธนะชานันท์ และทัศนา ทองภักดี (2555, 2) ทำวิจัยเรื่อง ปัจจัยเชิงเหตุและผลของภูมิคุ้มกันทางจิตของเยาวชน ส่วนหนึ่งของงานวิจัยพบว่า ปัจจัยครอบครัวด้านความสัมพันธ์ของบิดามารดา การสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัว และการถ่ายทอดการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของบิดามารดานั้นส่งผลทางบวกต่อภูมิคุ้มกันของจิต งานวิจัยของเกษตรชัย และหีม (2550, 436) ทำวิจัยเรื่อง องค์ประกอบในการพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์และสร้างสมการพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีการศึกษา 2547 จำนวน 720 คน พบว่าการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้ปกครองเป็นหนึ่งในตัวพยากรณ์ 12 ตัวที่สามารถพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 และงานวิจัยของวรรณา แจ้งสว่าง (2558, 31) ได้ทำวิจัยเรื่อง ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สังกัดสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษากาญจนบุรีเขต 3 พบว่าปัจจัยที่ส่งผลมากที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ได้แก่ อิทธิพลของพ่อแม่/ผู้ปกครอง เพราะการอบรมสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม การมีสายสมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความรักใคร่ ผูกพันกัน จะทำให้นักเรียนมีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความขยันหมั่นเพียรมีความรับผิดชอบและปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้อย่างเหมาะสม หากพ่อแม่/ผู้ปกครองประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการดําเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ลูกได้เห็นก็จะมีอิทธิพลต่อการแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนในการดําเนินชีวิตประจําวัน

                2)    โรงเรียน เป็นสถานที่ให้การศึกษาและอบรมเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา นับเป็นสถาบันที่มีความสำคัญเป็นลำดับที่สองรองจากสถาบันครอบครัว สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นขณะที่เด็กอยู่ที่โรงเรียนมีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างคุณลักษณะต่าง ๆ ทั้งคุณลักษณะที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ โรงเรียนนับเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่จำลองสถานการณ์ในสังคมภายนอกรอบด้าน สถาบันหลักทั้งสองสถาบัน ได้แก่ สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาจึงควรดำเนินการไปพร้อมกัน สอดคล้องกัน ช่วยกันเลี้ยงดู อบรม ให้ความรู้ ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

                        ปัจจุบันมีกระบวนการที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนความคิดเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ ๆ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกระบวนการที่มีชื่อว่า “ชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ (Professional Learning Community : PLC)” PLC มีพื้นฐานมาจากภาคธุรกิจเกี่ยวกับความสามารถขององค์กรในการบริหารองค์กรโรงเรียนโดยทั่วไปได้รับอิทธิพลจากแนวคิดการบริหารอุตสาหกรรมหรือวิทยาศาสตร์การจัดการ (Management sciences) ในตอนต้นยุคศตวรรษที่ 20 ตามแนวคิดของ Fayol (1916) (อ้างถึงใน Wood, 2002) ที่อธิบายการจัดองค์กรแบ่งตามหน้าที่โดยมีการจัดการ คือ การวางแผน การจัดองค์กร การบังคับบัญชาสั่งการ การประสานงาน และการควบคุม อีกทั้งมุ่งเน้นการฝึกอบรมด้านเทคนิควิธีการทำงานมากกว่าการเรียนรู้ในฐานงานจริงเช่นนี้ ทำให้การบริหารโรงเรียนส่วนใหญ่จึงเป็นระบบควบคุมบังคับบัญชาและความสัมพันธ์แบบแนวดิ่ง ลักษณะเช่นนี้ทำให้เกิดความร่วมมือน้อย การแยกส่วนกันทำงาน และการเรียนรู้มีน้อย ขาดความสามารถในการแก้ปัญหา นอกจากนั้นยังทำให้ลดทอนประสิทธิภาพในการทำงานแบบเปิดใจเรียนรู้ รับฟัง เปลี่ยนแปลง (ประเวศ วะสี และคณะ, 2547) ในทางกลับกันมิติที่แตกต่างแห่งยุคศตวรรษที่ 21 เป็นยุคความรู้มากมายที่มีการเปลี่ยนแปลง ถ่ายโอน และเชื่อมโยงทั่วถึงกันอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศเพียงปลายนิ้ว ทำให้เกิดการพัฒนาทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โลกที่เปลี่ยนแปลงไปยังส่งผลต่อวิถีการเรียนรู้ของผู้เรียน (Trilling,& Fadel, 2009; วิจารณ์ พาณิช, 2554) การเปลี่ยนเช่นนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าการทำงานและการเรียนรู้ของวิชาชีพครูไม่สามารถทำอย่างโดดเดี่ยว แบ่งแยกกันทำตามสายงานหรือทำงานภายในกรอบแนวคิดเดิมที่มุ่งเน้นเนื้อหาเพื่อสอนมากกว่าการเรียนรู้ (Ministry of Education, 2010) เช่นเดิม จึงเป็นเหตุให้มีการพัฒนาแนววิถีการเรียนรู้และพัฒนาขององค์กรแบบโรงเรียนที่เรียกว่า PLC อย่างหลากหลายรูปแบบในบริบทต่าง ๆ ของแต่ละประเทศที่ตื่นตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของในยุคศตวรรษที่ 21 ทั้งกรณีศึกษากลุ่ม ศึกษาบทเรียน หรือ Lesson study ในประเทศญี่ปุ่น การพัฒนาวิชาชีพครูแบบ Problem-solving groups ของประเทศฟินแลนด์ และการพัฒนาวิชาชีพครูแบบ Lesson group and research group ในเมืองเซี่ยงไฮ้ และ PLC แห่งชาติเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ “Teach less, Learn more” ในประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น เป็นรูปแบบ PLC ที่หลากหลาย และล้วนมุ่งเน้นการปฏิรูป การจัดการเรียนรู้ผ่าน PLC แบบร่วมแรงร่วมใจกันอย่างจริงจัง บนฐานงานจริงมากกว่าการอบรมนอกหน้างาน อย่างไรก็ตามองค์ความรู้เกี่ยวกับ PLC ในประเทศไทยยังเป็นแนวคิดที่ยังไม่แพร่หลายเฉพาะกลุ่มโรงเรียนที่มุ่งปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้ PLC เพื่อพัฒนาวิชาชีพบนฐานงานจริงภายในโรงเรียนเป็นหลักจึงได้มีการศึกษาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องจากเอกสารทางวิชาการทั้งภายในและต่างประเทศ สังเคราะห์เป็นองค์ความรู้เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาและความสำคัญ ความหมายการแบ่งระดับ PLC และองค์ประกอบ PLC ในบริบทสถานศึกษา โดยหวังว่าแนวคิดนี้จะสามารถจุดประกายความสนใจในการประยุกต์แนวคิด PLC ในโรงเรียนเพื่อการพัฒนาวิชาชีพครูที่เน้นผู้เรียนเป็นหัวใจสำคัญ

                3)     กลุ่มทางสังคมอื่น ๆ นับเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีหลากหลายประเภทเช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มชาติพันธ์ กลุ่มสีผิว กลุ่มศาสนา กลุ่มประเทศ กลุ่มชนชั้น ฯลฯ นับเป็นสิ่งแวดล้อมหลังเกิดที่อาจเกิดได้จากครอบครัวปลูกฝังหรือนักเรียนสนใจเข้าร่วมกลุ่มทางสังคมด้วยตนเอง ในยุคปัจจุบันที่นักเรียนทุกคนมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตและเครื่องมือสื่อสารอยู่ในมือ การเข้าร่วมกลุ่มทางสังคมผ่านทางเครื่องมือเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ง่ายมาก การดูแลอย่างใกล้ชิด ให้คำแนะนำและสื่อสารกับนักเรียนหรือลูกตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองและครูต้องทำ เนื่องจากกลุ่มทางสังคมในโลกออนไลน์นั้นมีทั้งกลุ่มในทางบวกและทางลบ  

อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น