หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

เทคนิคการปรับพฤติกรรมในการเรียนรู้คณิตศาสตร์

จากการศึกษาองค์ความรู้ของอัจฉรา เอิบสุขสิริ (2556, 334) เกี่ยวกับเทคนิคการปรับพฤติกรรมในการเรียนรู้ของนักเรียนในชั้นเรียน สามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์ให้เป็นเทคนิคที่ครูคณิตศาสตร์สามารถนำองค์ความรู้นี้มาปรับใช้ได้ในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ได้ ดังนี้

         1. การเสริมแรงด้านบวกและการเสริมแรงด้านลบ
                  ครูคณิตศาสตร์สามารถปรับวิธีการเสริมแรงนี้ได้ตามสถานการณ์ในชั้นเรียนทั้งการเสริมแรงทางบวกและการเสริมแรงทางลบ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำได้ง่ายแต่มีประสิทธิภาพสูง เช่น การยอมรับ การชมเชย การสัมผัสที่นุ่มนวล การเรียกชื่อ การใช้สายตามอง การใช้น้ำเสียง การใช้คำถาม เป็นต้น

         2. การแลกเปลี่ยน
                เป็นการให้สิ่งหนึ่งสิ่งใด (token) เมื่อนักเรียนแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ซึ่งนักเรียนสามารถนำไปแลกกับสิ่งที่เขาต้องการได้ สิ่งที่นักเรียนต้องการในการแลกเปลี่ยน ยกตัวอย่างเช่น
1)     กิจกรรมนอกชั้นเรียน เช่น การวิ่งเล่นในสนาม การเล่นกีฬากับเพื่อน
2)     สิ่งของที่ชอบ เช่น ของเล่น ขนม ดินสอสี
3)     สิทธิพิเศษ เช่น การพัก กลับบ้านเร็ว
4)     การทำสัญญา เช่น ครูสัญญาว่าจะพาไปทัศนศึกษานอกสถานที่

        3. การเขียนบันทึกประจำวัน
        เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ต้องร่วมมือกันระหว่างครูและผู้ปกครองในการเขียนรายงานหรือจดบันทึกพฤติกรรมสั้น ๆ เพื่อรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของนักเรียน เทคนิคนี้จะได้ผลดีเมื่อครูและผู้ปกครองจดบันทึกความจริงและละเอียดมากพอที่จะวิเคราะห์พฤติกรรมของนักเรียน

          4. การปรับพฤติกรรมทีละขั้น
               เทคนิคนี้ใช้สำหรับการปรับพฤติกรรมที่มีความซับซ้อน มีปัจจัยหลายอย่างแทรกซ้อน และเป็นพฤติกรรมที่นักเรียนต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมากในการกระทำ เช่น การมาโรงเรียนสาย การขาดความมั่นใจในการนำเสนอหน้าชั้น การมองโลกในแง่ร้าย การมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อรายวิชา เป็นต้น การใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรมทีละขั้น มีดังนี้
            1)     เสริมแรงทันทีเมื่อนักเรียนมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์
            2)     เสริมแรงให้ตรงกับความสนใจและความต้องการของนักเรียน
            3)     อธิบายสิ่งที่นักเรียนต้องทำให้ชัดเจน
            4)     ไม่สนใจพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
            5)    เปลี่ยนรูปแบบการเสริมแรงบ่อย ๆ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนตื่นเต้น กระตือรือร้น
            6)     อย่าใช้อารมณ์

        5. การทำตามต้นแบบ
        เทคนิคการทำตามต้นแบบเป็นเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมรอบตัวนักเรียนรวมถึงคนที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนทุกคน ครูและผู้ปกครองต้องทำตัวเป็นต้นแบบหรือแบบอย่างที่ดี สร้างความน่าเชื่อถือ เชื่อมั่น รักและศรัทธาให้กับนักเรียน ซึ่งนอกจากครูและผู้ปกครองจะต้องประพฤติปฏิบัติดีแล้วยังสามารถเสริมสร้างบรรยากาศหรือโอกาสให้นักเรียนได้เห็นต้นแบบจากคนอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น การดูภาพยนตร์ การดูคลิปวีดีโอ การพูดถึงบุคคลที่ทำดี ฯลฯ เทคนิคนี้ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นั่นคือ การสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นวิธีการที่ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนจากภายในของนักเรียน   หากนักเรียนมีแรงบันดาลใจที่ดีจะทำให้นักเรียนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติได้อย่างยั่งยืน 

          6. การควบคุมตนเอง
                  เป็นเทคนิคที่เกิดจากตัวนักเรียนเองที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยมีครูเป็นคนให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ และชี้แนะแนวทางในการปรับพฤติกรรม โดยมีขั้นตอนที่สำคัญ คือ การตั้งเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมที่เกิดขึ้น การประเมินตนเอง การให้แรงเสริม ซึ่งเทคนิคในการควบคุมตนเองนี้ต้องเกิดจากแรงขับภายในและแรงบันดาลใจของนักเรียน โดยครูสามารถใช้กระบวนการในการสะท้อนคิดที่จะนำมาสู่การหาวิธีการในการควบคุมตนเองและหาเป้าหมายของพฤติกรรมที่ต้องการปรับเปลี่ยนหรือส่งเสริม

          7. การลงโทษ
                  เป็นเทคนิคสุดท้ายที่ครูต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจในวิธีการลงโทษนักเรียน การลงโทษคือการให้ในสิ่งที่นักเรียนไม่พอใจหรือเกรงกลัว การลงโทษที่ก่อให้เกิดประโยชน์คือการลงโทษที่มีเหตุผลรองรับ ไม่รุนแรง ไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ หรือทำร้ายนักเรียน การลงโทษที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่
            1)     การแยกตัวหรือจำกัดพื้นที่ เป็นวิธีการที่ต้องระวังสถานที่ในแยกตัวหรือจำกัดพื้นที่ที่ไม่น่ากลัว ไม่เป็นสถานที่กักขังหน่วงเหนี่ยว ไม่เป็นสถานที่ที่นักเรียนชอบ เช่น สนามเด็กเล่น ภายนอกโรงเรียน
            2)     การเรียกแรงเสริมคืน เป็นวิธีที่ใช้ลงโทษนักเรียนที่อยู่ระหว่างการปรับพฤติกรรมหรืออยู่ในข้อตกลงที่ทำไว้กับครู ซึ่งต้องระวังการใช้อารมณ์ในกรณีที่นักเรียนกำลังโมโห ผิดหวัง ก้าวร้าว เพราะจะทำให้เกิดปัญหามากขึ้น ควรทำให้นักเรียนสงบอารมณ์ลงก่อน
            3)     การตำหนิ เป็นวิธีการตักเตือนนักเรียนเพื่อทำให้นักเรียนรู้ว่าครูกำลังไม่พอในพฤติกรรมที่นักเรียนกระทำ ซึ่งการตำหนิควรกระทำในที่ลับ ไม่เปิดเผย ครูต้องระวังการตำหนิในลักษณะการประจานหรือตำหนิต่อหน้าเพื่อนหรือที่สาธารณะ
        
อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น