เนื่องจากคณิตศาสตร์มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและเป็นรากฐานของความเจริญในวิทยาการแขนงต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นศาสตร์หรือวิชาที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เมื่อครูผู้สอนได้ชี้ให้นักเรียนเห็นถึงความสำคัญของวิชาคณิตศาสตร์ตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว จึงควรกล่าวถึงประโยชน์อันจะส่งผลต่อการนำคณิตศาสตร์ไปใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและอนาคตต่อไป โดยมีนักการศึกษาได้ให้ความเห็นถึงประโยชน์ของคณิตศาสตร์ ดังนี้
สมเดช บุญประจักษ์ (2551:
11) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของคณิตศาสตร์ไว้ ดังนี้
1)
ประโยชน์ในแง่ที่เป็นเครื่องมือหรือเป็นความรู้ที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
การดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ต้องอาศัยความรู้ทางคณิตศาสตร์
ไม่ว่าจะเป็นความรู้เกี่ยวกับจำนวนหรือตัวเลข การชั่ง ตวง วัด ความรู้ทางเรขาคณิต
พีชคณิต สถิติ เวลา และเงิน
2)
ประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพ ทุกอาชีพล้วนต้องใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์
เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ สถิติ ฯลฯ
เพราะคณิตศาสตร์จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาวิชาชีพเหล่านั้นให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ตัวอย่างความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่นำไปใช้ในวิชาชีพต่าง ๆ
เลขคณิต ใช้ในการคิดคำนวณ
มีประโยชน์ต่ออาชีพค้าขาย
พีชคณิต ใช้เป็นแบบจำลองในทางธุรกิจ
อุตสาหกรรม และวิทยาศาสตร์
เรขาคณิต
ใช้ในการออกแบบ การก่อสร้าง ดาราศาสตร์ การเดินเรือ การสำรวจ และรังวัด
ตรีโกณมิติ
ใช้ในการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์
สถิติ
ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อหาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ พาณิชยกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์
แคลคูลัส
ใช้ในการคำนวณทางวิศวกรรมศาสตร์ ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์
3)
ประโยชน์ในแง่ของการปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีงาม
คณิตศาสตร์สามารถนำมาฝึกและพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่มีนิสัย ทัศนคติ
หรือความสามารถทางสมองหลายประการ เช่น การเป็นคนช่างสังเกต
การคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ การคิดอย่างมีเหตุผล การนำเสนอแนวคิดอย่างเป็นระบบ
ชัดเจน ตรวจสอบได้ และนำแนวคิดทางคณิตศาสตร์ไปใช้
4)
ประโยชน์ในแง่การเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ความรู้ทางคณิตศาสตร์ ที่ค้นพบจากคนรุ่นหนึ่งสืบทอดไปสู่คนรุ่นหลัง
ๆ บางเรื่องอาจศึกษาโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะนำไปใช้ แต่ศึกษาเพื่อให้รู้ระบบการคิด
หรือเพื่อชื่นชมและสร้างความภูมิใจในผลงานของคณิตศาสตร์ที่มีต่อวัฒนธรรมและความก้าวหน้าของมนุษย์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(สสวท.) (2555: 1) กล่าวว่า
ประเด็นสำคัญที่ครูคณิตศาสตร์ควรชี้แจงให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการเรียนคณิตศาสตร์
มีดังนี้
1)
เรียนคณิตศาสตร์เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิต
และใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาวิทยาการต่าง ๆ ในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มนุษยศาสตร์และ ศิลปศาสตร์
ตลอดจนศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้เพราะเราจำเป็นต้องใช้คณิตศาสตร์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับกิจกรรมส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันมีการนำคณิตศาสตร์ไปใช้อธิบายปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง
ๆ และคาดการณ์ถึงผลที่อาจเกิดขึ้นทำให้เราสามารถเตรียมตัวรับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2)
เรียนคณิตศาสตร์เพื่อการเป็นพลเมืองที่ดีและมีคุณภาพ
ทั้งนี้เพราะคณิตศาสตร์เป็นวิทยาการแขนงหนึ่งที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์
มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความคิดของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์
คิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ มีแบบแผน
สามารถวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์ได้อย่างถี่ถ้วน รอบคอบ ทำให้สามารถคาดการณ์
วางแผน ตัดสินใจแก้ปัญหา และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
3)
เรียนคณิตศาสตร์เพื่อศึกษาอารยธรรมที่นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของมนุษยชาติ
ทั้งนี้เพราะคณิตศาสตร์เป็นอารยธรรมที่มีวิวัฒนาการอันยาวนานมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันโดยไม่หยุดนิ่ง
ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาอันลึกซึ้ง และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของคนแต่ละยุคสมัยในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเราให้ดีขึ้น
สมพร
สูตินันท์โอภาส (2556: 34) กล่าวว่า
ครูที่สอน คณิตศาสตร์ส่วนใหญ่มักจะได้ยินคำถามจากนักเรียนเสมอว่า “ทำไมต้องเรียนคณิตศาสตร์” หรือ “คณิตศาสตร์มีประโยชน์อย่างไร” และคำตอบที่เรามักได้ยินจนชินหู
คือ “คณิตศาสตร์มีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน” พร้อมทั้งยกตัวอย่าง เช่น เราต้องใช้ คณิตศาสตร์เมื่อเราไปตลาด ไปธนาคาร
ไปเล่นกีฬา การเช่าซื้อ รถหรือบ้าน หรือแม้กระทั่งการทำอาหาร
ล้วนต้องใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ทั้งสิ้น
ซึ่งเป็นประโยชน์ที่เป็นประจักษ์ของทุกคนอยู่แล้ว
แต่นั่นเป็นเพียงประโยชน์ของคณิตศาสตร์พื้นฐานเท่านั้น คนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นประโยชน์ของคณิตศาสตร์ระดับสูงยกเว้นคนที่เลือกศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย
โดยเฉพาะคนที่เลือกเรียนแพทย์ เรียนฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น
หารู้ไม่ว่าทุกคนได้สัมผัสกับคณิตศาสตร์ระดับสูงเป็นประจำโดยไม่รู้ตัวถึงแม้นักเรียนจะไม่ชอบ
โดยเฉพาะเวลาไปกดเงินที่ตู้เอทีเอ็ม การใช้บัตรเครดิต หรือแม้กระทั้งการท่องเน็ต
ปัจจุบันครูที่ดีต้องเป็นครูที่ชอบเรียนไม่ใช่ชอบสอนอย่างเดียว
ครูที่ชอบสะสมบทประยุกต์ของคณิตศาสตร์จะได้เปรียบครูอื่น ๆ ครูที่สอนให้เด็กรู้ถึงประโยชน์ของคณิตศาสตร์จะทำให้นักเรียนชอบคณิตศาสตร์มากขึ้น
โครงการ PISA ประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(2552: 1) กล่าวว่า ความรู้คณิตศาสตร์สามารถเข้ามาช่วยทำให้การมองประเด็น
การตั้งปัญหา หรือการแก้ปัญหามีความชัดเจนยิ่งขึ้น การใช้คณิตศาสตร์ดังกล่าวนั้น แม้จะต้องมีรากฐานมาจากทักษะคณิตศาสตร์ในชั้นเรียน
แต่ก็จำเป็นต้องมีความสามารถในการใช้ทักษะนั้น ๆ ในสถานการณ์อื่น ๆ นอกเหนือไปจากสถานการณ์ของปัญหาคณิตศาสตร์ล้วน
ๆ หรือแบบฝึกคณิตศาสตร์ที่เรียนในโรงเรียนที่นักเรียนจะสามารถคิดอยู่ในวงจำกัดของเนื้อหาวิชาโดยไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงมากนัก
แต่การใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตจริงนักเรียนต้องรู้จักสถานการณ์ หรือสิ่งแวดล้อมของปัญหา
ต้องเลือกตัดสินใจว่าจะใช้ความรู้คณิตศาสตร์อย่างไร
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า
ประโยชน์ของคณิตศาสตร์ คือ 1) ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
เช่น การเปรียบเทียบความสูง ต่ำ กว้าง ยาว หนัก เบา ฯลฯ 2) ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ
เช่น การค้าขาย การเพาะปลูก การตัดเย็บเสื้อผ้า การตัดไม้ ภาษี ฯลฯ 3) ประโยชน์ในการพัฒนาวิทยาการแขนงต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์
แพทยศาสตร์ ฯลฯ 4) ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ
เมื่อประชากรมีการคิดและการตัดสินใจที่เป็นระบบ ระเบียบ เป็นเหตุผล
มีความรู้พื้นฐานเพียงพอต่อการต่อยอดองค์ความรู้และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ
เพื่ออำนวยความสะดวก ก็จะทำให้ประเทศพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ 5) ประโยชน์ในด้านความงามทางศิลปะ
เนื่องจากคณิตศาสตร์มีระบบระเบียบและเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เมื่อนำไปผสมผสานกับวิทยาการแขนงต่าง ๆ จะทำให้เกิดความงามขึ้น
อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น