หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ความคาดหวังที่เกี่ยวข้องกับครูและการผลิตครู

สัดส่วนการผลิตครูของสถาบันผลิตครู พบว่า สถาบันผลิตครูที่มีสัดส่วนการผลิตครูมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือมหาวิทยาลัยราชภัฏ รองลงมาคือมหาวิทยาลัยของรัฐ และสถานศึกษานอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามลำดับ กระทรวงศึกษาธิการพบปัญหาในกระบวนการผลิตครูหลายประการ หนึ่งในปัญหานั้นคือปัญหาด้านกระบวนการ (process) ในการผลิตครูให้มีความเหมาะสมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ มีการคิดวางแผนเป็นระบบตั้งแต่การเตรียมนิสิต/นักศึกษา การจัดระบบนิเทศ การคำนึงถึงสถานที่ฝึกประสบการณ์ ซึ่งอาจไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนเท่านั้น แต่เพิ่มแหล่งฝึกประสบการณ์ที่หลากหลาย มีงานวิจัยจำนวนมากที่มุ่งเน้นการพัฒนานักศึกษาครูคณิตศาสตร์ เช่น งานวิจัยของสมวงษ์ แปลงประสพโชค (2558: 123 – 131) เรื่อง การสร้างชุดฝึกปฏิบัติวิชาแคลคูลัส 2 สำหรับนักศึกษาเอกคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร งานวิจัยของปัณณวิชญ์ ใบกุหลาบ และสุขแก้ว คำสอน (2558: 29 – 50) เรื่อง การศึกษาคะแนนพัฒนาการความสามารถด้านการวิจัยของนักศึกษาครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก งานวิจัยของชนัดดา ภูหงษ์ทอง (2556: 154-164) เรื่อง การเปรียบเทียบพฤติกรรมการเป็นครูในศตวรรษที่ 21 เจตคติต่อวิชาชีพครูและแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของนิสิตนักศึกษาครูชั้นปีที่ 1 โดยใช้การฝึกอบรมเรื่องการเป็นครูในศตวรรษที่ 21 กับการสอนแบบบรรยาย และงานวิจัยอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถาบันผลิตครูทุกแห่งให้ความสำคัญกับการผลิตครูออกไปรับใช้สังคมอย่างมีคุณภาพ


มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับความคาดหวังของชุมชนต่อครู ดังนี้

สัจจา โสภา (2556: บทคัดย่อ) ได้ทำการวิจัยเรื่อง ความคาดหวังและความพึงพอใจนักเรียนต่อการบริการที่ศูนย์เตรียมความพร้อมภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ เพื่อศึกษาความคาดหวังและความพึงพอใจนักเรียนต่อการบริการที่ศูนย์เตรียมความพร้อมภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ตามปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด คือ ผลิตภัณฑ์ ราคา ช่องทางการจำหน่าย การส่งเสริมการตลาด บุคลากร ลักษณะกายภาพ และกระบวนการบริการ

สัณหภาส มาเชื้อ (2550: บทคัดย่อ) ได้ทำวิจัยเรื่อง ความคาดหวังของนักเรียน ผู้ปกครอง และครูในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนโป่งหลวงวิทยา รัชมังคลาภิเษก อำเภอเมือง ลำปาง เพื่อศึกษาระดับความคาดหวังและความคิดเห็นของนักเรียน ผู้ปกครอง และครู โรงเรียนโป่งหลวงวิทยารัชมังคลาภิเษก ตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

พงษ์ธร สิงห์พันธ์ (2559: 37-45) ได้ทำวิจัยเรื่อง แนวทางการพัฒนาบทบาทหน้าที่และรูปแบบการพัฒนาครูของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีในฐานะสถาบันอุดมศึกษาของท้องถิ่นที่สอดคล้องกับความคาดหวังของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคาดหวังความต้องการพัฒนาครูของผู้บริหารสถานศึกษาและครูในเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานีที่มีต่อบทบาทการพัฒนาครูของคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาของท้องถิ่น และเพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาบทบาทหน้าที่และรูปแบบการพัฒนาครูของคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีที่สอดคล้องกับความคาดหวังของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี

 มนพรภัสช์ สองแคว และอัญญมณี บุญซื่อ (2559: 95-112) ทำวิจัยเรื่อง ความคาดหวังของครูต่อความพร้อมในการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความคาดหวังของครูต่อความพร้อมในการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ใน 5 ด้านได้แก่ ด้านพัฒนาการทางร่างกายและสุขภาวะที่ดี ด้านพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม ด้านวิธีการเรียนรู้ ด้านพัฒนาการทางภาษาและการรู้หนังสือ และด้านพัฒนาการด้านสติปัญญาและความรู้ทั่วไป

 วรนัน โสวรรณ์, วิภาภรณ์ ภู่วัฒนกุล และสุดารัตน์ มานะ (2556: 138-148) ได้ทำงานวิจัยเรื่อง ความคาดหวังของผู้ปกครองต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชน ระดับประถมศึกษากลุ่มเครือข่าย สถานศึกษาเอกชน กลุ่มที่ 10 สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ความคาดหวังของผู้ปกครองต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนระดับประถมศึกษากลุ่มเครือข่ายสถานศึกษาเอกชน กลุ่มที่ 10 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร 2) เปรียบเทียบความคาดหวังของผู้ปกครองต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนระดับประถมศึกษากลุ่มเครือข่ายสถานศึกษาเอกชน กลุ่มที่ 10 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร ตามระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ต่อเดือน และระดับชั้นเรียนของบุตรหลาน

  กิตดา ปรัตถจริยา และอุบล เลี้ยววาริณ (2554: 2) ได้ทำงานวิจัยเรื่อง ความเป็นครูในศตวรรษที่ 21 ตามความคาดหวังของนักเรียนและนักศึกษา การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ 1) เพื่อศึกษาความคาดหวังของนักเรียนและนักศึกษาที่มีต่อความเป็นครูในศตวรรษที่ 21 ด้านคุณธรรมจริยธรรมครู ด้านคุณลักษณะที่ดีของครู ด้านบุคลิกภาพที่ดีของครู ด้านบทบาทหน้าที่ของครู และด้านสมรรถนะของครู 2) เพื่อเปรียบเทียบความเป็นครูในศตวรรษที่ 21 ตามความคาดหวังนักศึกษาระหว่างนักศึกษาคณะครุศาสตร์และนักศึกษา คณะอื่น ๆ 

 ศักดิ์ชาย เรืองวัชรศักดิ์ และคณะ (2551: 51-58) ได้ทำงานวิจัยเรื่อง ความคาดหวังของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อ โรงเรียนสองภาษาเทศบาลตำบลแก่งคอย โดย คณะผู้วิจัยได้สำรวจข้อมูลของผู้ปกครองนักเรียนระดับก่อนประถมศึกษา ในเขตเทศบาลตำบลแก่งคอย 4 แห่ง โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม จากผู้ปกครองทั้งสิ้น 190 ราย ผลการวิจัยปรากฏว่า ความคาดหวังของผู้ปกครองนักเรียนเกี่ยวกับด้านการจัดการเรียน การสอน ผู้ปกครองให้ความสำคัญ 3 อันดับแรก คือ การมีวินัย ร้อยละ 99 ความมีน้ำใจ และความซื่อสัตย์ ร้อยละ 97 และความสามัคคี ร้อยละ 95 เกี่ยวกับด้านอาคารสถานที่ ผู้ปกครองให้ความสำคัญ 3 อันดับแรก คือ เรื่องความปลอดภัย ของนักเรียน ได้แก่ โรงเรียนมีรั้วรอบขอบชิดร้อยละ 96 บันไดมีราวจับ ห้องเรียนมีความสะอาด ร้อยละ 87 และสนามเด็กเล่นมีเครื่องเล่นที่ปลอดภัยร้อยละ 86 ด้านกิจกรรมพิเศษ ผู้ปกครองให้ความสำคัญ 3 อันดับแรก คือ การจัดการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ เบื้องต้น ร้อยละ 87 กีฬาประเภทว่ายน้ำ ร้อยละ 60 และกีฬาประเภทวิ่งร้อยละ  50

  จากเนื้อหาดังกล่าวข้างต้นทำให้เห็นว่าสถาบันผลิตครูรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับครู ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานภาคเอกชนอื่น ๆ ต่างสนใจในการศึกษาและทำวิจัยเกี่ยวกับความคาดหวัง เพื่อหาจุดร่วมแห่งความพึงพอใจและตอบสนองความคาดหวังของทุกฝ่ายได้อย่างตรงจุด ความคาดหวังจะเป็นทิศทางในการดำเนินงานและสร้างความเข้าใจในประเด็นที่คาดหวังในแต่ละฝ่ายว่าสามารถทำงานไปในแนวทางที่คาดหวังได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะทำให้เกิดความสงบสุข ราบรื่นในการทำงาน

อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น