หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ความคาดหวังของชุมชนต่อครูคณิตศาสตร์

 วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีเนื้อหาสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นวิชาที่ช่วยพัฒนาความคิด ทักษะ ความสามารถของคนทุกวัย อาชีพทุกอาชีพจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหากคนที่ประกอบอาชีพนั้นมีทักษะทางคณิตศาสตร์ที่ดี โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งสังคม ความเป็นอยู่ และพฤติกรรมของมนุษย์ แต่ถึงแม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใดการศึกษายังคงเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์และการพัฒนาประเทศ โดยมีบุคคลที่สำคัญที่สุดในกระบวนการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ ก็คือ “ครู” 

ครูคือบุคคลที่ถูกคาดหวังจากชุมชนและได้รับการยกย่องว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง มีเกียรติ เป็นผู้มีความรู้ จากอดีตเรามักได้รับฟังประสบการณ์จากครูรุ่นก่อนถึง      การปฏิบัติตัวและความคาดหวังในชุมชนที่มีต่อตัวครู แต่ในยุคศตวรรษที่ 21 นั้นเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ครูจึงควรทราบและรับข้อมูลที่ทันสมัยว่าควรปฏิบัติตัว  อย่างไร และชุมชนมีความคาดหวังต่อครูอย่างไร เพื่อให้ครูได้ทราบและเข้าใจถึง   แนวทางการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมในสังคมยุค 4.0 

ความหมายของความคาดหวัง Meaning of Expectation 

มีนักการศึกษาหลายท่านให้ความหมายของความคาดหวังไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

      พรพิมล ริยาย และคณะ (2555: 5) ให้ความหมายของความคาดหวังว่า หมายถึง ความต้องการ ความรู้สึก การรับรู้ การคาดการณ์ ถึงสิ่งที่บุคคลปรารถนาจะเป็นหรือจะได้มาในอนาคต

      ฤทัย นิธิธนวิชิต (2553: 12) กล่าวว่า ความคาดหวังเป็นความคิด ความเชื่อ ความต้องการ ความมุ่งหวังหรือความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อสิ่งหนึ่ง เช่น บุคคล การกระทำ หรือเหตุการณ์ จึงเป็นการคิดล่วงหน้าโดยมุ่งหวังในสิ่งที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดตามที่ตนคิดไว้

      Clay,R (1988: 252) ได้กล่าวถึง ความคาดหวังต่อการกระทําหรือสถานการณ์ว่า เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงอนาคตที่ดี เป็นความมุ่งหวังที่ดีงาม เป็นระดับหรือค่าความน่าจะเป็นของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มุ่งหวังไว้

      Son,W (1988: 21) กล่าวว่า ความคาดหวังเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าและเชื่อว่าบางสิ่งบางอย่างจะเกิดขึ้น หรือเป็นความเชื่อว่าบางสิ่งบางอย่างควรจะเกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้น

      Oxford University (1989: 281) ให้ความหมายของความคาดหวังว่า เป็นสภาวะทางจิตซึ่งเป็นความรู้สึกนึกคิด หรือเป็นความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาณของบุคคลที่คาดคะเน หรือคาดการณ์ล่วงหน้าต่อบางอย่างว่าควรจะมี ควรจะเป็น หรือควรจะเกิดขึ้น

จากความหมายของความคาดหวังของนักการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสรุปได้ว่า ความคาดหวัง หมายถึง ความต้องการ ความเชื่อ ความรู้สึกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ควรเกิดขึ้นในเชิงบวก

ทฤษฎีความคาดหวัง Expectancy Theory

          จากความหมายของความคาดหวังจากหัวข้อที่ 1 ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มีนักการศึกษาที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความคาดหวัง และเกิดทฤษฎีที่น่าสนใจ ดังนี้

          Robbins and Judge (2007, อ้างถึงใน ธนาศิริ ชะระอ่ำ, 2554: 8)  กล่าวว่า บุคคลมีพฤติกรรมโดยถือเกณฑ์ความน่าจะเป็นในการรับรู้ ซี่งทําให้เกิดการใช้ความพยายามเพื่อนําไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ ตลอดจนขึ้นกับวิธีการมองถึงคุณค่าที่เป็นผลลัพธ์นั้น ทฤษฎีกระบวนการนี้เสนอแนะว่า ก่อนที่บุคคลจะปฏิบัติบุคคลนั้นจะพิจารณาว่าจะมีความสามารถความพยายามที่จะทําให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการหรือไม่ในรูปของความสัมพันธ์ระหว่างความพยายามที่ใช้ในการปฏิบัติงานกับผลการปฏิบัติงาน แบ่งเป็น 3 ส่วนดังนี้  

 ส่วนที่ 1 ความหวังผลการปฏิบัติงานจากความพยายาม (Effort Performance Expectancy) เป็นส่วนประกอบหนึ่งของทฤษฎีความคาดหวังที่เกี่ยวข้องกับความน่าจะเป็น ความคาดหวังผลการปฏิบัติงานจากความพยายามเป็นส่วนที่แสดงถึงความพยายามในด้านต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อการปฏิบัติงาน ผู้บริหารสามารถกระตุ้นให้พนักงานเกิดความคาดหวังจากการใช้ความพยายามในการปฏิบัติงานสูง โดยจัดการฝึกอบรมให้การสนับสนุนพนักงาน ตลอดจนการกําหนดเป้าหมายในการทํางานที่ชัดเจน เป็นต้น

ส่วนที่ 2 ความคาดหวังผลลัพธ์จากการปฏิบัติงาน (Performance-Outcome Expectancy) กล่าวคือ เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประเมินสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงาน และระบบรางวัล พนักงานจะพิจารณาผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานนั้น ซึ่งเป็นความคาดหวังจากการใช้ความพยายามในการทํางาน เมื่อบุคคลรับรู้ความพยายามของเขาจะนําไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ เขาจะพยายามปฏิบัติงานไม่ให้พลาดเพื่อให้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

ส่วนที่ 3  คุณค่าความพอใจในผลลัพธ์ (Valence of Outcomes)

หมายถึง คุณค่าของความพึงพอใจ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ของแต่ละบุคคลจากการปฏิบัติหรือคุณค่าของความพึงพอใจที่คาดไว้ล่วงหน้าว่าจะได้รับ (Anticipated Satisfaction) แต่ละองค์กรและสมาชิกขององค์กรต้องการผลลัพธ์และมีแรงดึงดูดใจไม่เท่ากนั บางคนอาจจะต้องการผลลัพธ์ที่มีลักษณ์เฉพาะ แต่บางคนอาจจะไม่คิดเช่นนั้น ทําให้ต้องศึกษาคุณค่าหรือส่วนประกอบของผลลัพธ์ เมื่อผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจคุณค่าความพอใจจะเป็นบวก แต่เมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพอใจคุณค่าความพอใจ จะเป็นลบ เมื่อผลลัพธ์มีลักษณะเป็นที่น่าพึงพอใจและไม่น่าพึงพอใจคุณค่าความพอใจในผลลัพธ์เท่ากับศูนย์

วิภาวดี อร่ามอรพรรณ (2548: 50) ได้กล่าวถึงทฤษฎีความคาดหวัง (Expectancy Theory) ของวรูม (Vroom) ว่ามีองค์ประกอบของทฤษฎีที่สําคัญ คือ  

1) Valence หมายถึง ความพึงพอใจของบุคคลที่มีต่อผลลัพธ์

2) Instrumentality หมายถึง เครื่องมือ อุปกรณ์ วิถีทางที่จะนําไปสู่ความพึงพอใจ  

3) Expectancy หมายถึง ความคาดหวังภายในตัวบุคคลนั้น ๆ

ดังนั้น บุคคลจึงพยายามดิ้นรน แสวงหา หรือพยายามกระทำวิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อตอบสนองความต้องการหรือสิ่งที่คาดหวังไว้ ซึ่งเมื่อได้รับการตอบสนองความคาดหวังแล้วบุคคลจะเกิดความพึงพอใจ ขณะเดียวกันความคาดหวังก็จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ

อ้างอิง : สุพรรณิการ์ ชนะนิล. (2560). พฤติกรรมการสอนคณิตศาสตร์. มหาสารคาม; โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น