หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

เกมสนุกๆ ต้อนรับวันฝนตกค่ะ

สวัสดีค่ะนักศึกษาและผู้ที่สนใจ ^^

อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยจัง เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝนตก แดดออก ยังไงรักษาสุขภาพกันด้วยนะคะ วันนี้มีเกมสนุกๆ ที่เกี่ยวกับตัวเลขมาฝากค่ะ ลองกดเครื่องคิดเลขตามๆ ดู ผลลัพธ์น่าประหลาดใจทีเดียวค่ะ หรือใครอยากฝึกคิดเลขด้วยตนเองก็ได้ ลองดูนะคะ ^^

อ.น้ำ









วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555

การรับรู้ด้วยสื่อของเด็กปฐมวัย

การรับรู้ด้วยสื่อของเด็กปฐมวัย
          การรับรู้เป็นกระบวนการที่บุคคลสัมผัสสิ่งเร้า แล้วใช้ประสบการณ์หรือความรู้เดิม แปลความหมายของสิ่งเร้าที่สัมผัส ด้วยความใส่ใจ ดังนั้น การรับรู้ของบุคคลจะเกิดขึ้นได้ จึงต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 4 ประการ คือ
1)      สิ่งเร้าที่จะรับรู้
2)      อวัยวะสัมผัสหรือความรู้สึกสัมผัส
3)      ประสบการณ์หรือความรู้เดิมเกี่ยวกับสิ่งเร้าที่ได้สัมผัส
4)      ความใส่ใจหรือความตั้งใจที่จะรับรู้

อย่างไรก็ตาม การรับรู้เนื้อหาสาระต่างๆ จากสื่อของเด็กปฐมวัยนั้น เนื่องจากประสบการณ์และความพร้อมของอวัยวะสัมผัสที่จะรับรู้ของเด็กยังอยู่ในขอบเขตจำกัด ดังนั้น การเลือกสิ่งเร้าที่จะเป็นสื่อเพื่อสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ หรือเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะต้องเลือกให้เหมาะกับความสามารถในการรับรู้ และให้เหมาะกับประสบการณ์หรือความรู้เดิมที่เด็กมีอยู่

การรับรู้ด้วยสื่อของเด็กปฐมวัย แบ่งตามประสาทสัมผัสการรับรู้ ดังนี้
1.      การรับรู้ด้วยสื่อทางตาของเด็กปฐมวัย
2.      การรับรู้ด้วยสื่อทางหูของเด็กปฐมวัย
3.      การรับรู้ด้วยสื่อทางการสัมผัสและการเคลื่อนไหวของเด็กปฐมวัย
4.      การรับรู้ด้วยสื่อทางจมูกของเด็กปฐมวัย
5.      การรับรู้ด้วยสื่อทางลิ้นของเด็กปฐมวัย

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

สื่อการสอนกับเด็กระดับปฐมวัย

สื่อการสอนระดับปฐมวัย
โดย      อาจารย์คุณหญิงเบญจา แสงมลิ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประดินันท์ อุปรมัย อาจารย์วีณา ประชากูล

สื่อสำหรับเด็กปฐมวัย หมายถึง
วัสดุที่เด็กนำมาเล่นแล้วได้รับความสุข ได้ผ่อนคลาย ได้เรียนรู้ เป็นตัวกลางที่ทำให้เด็กเกิดความรู้จากการได้สัมผัส ได้ลงมือปฏิบัติช่วยให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง

สื่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดเรื่องราวสาระความรู้จากครูสู่เด็ก
เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง
เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์
เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กเข้าใจเรื่องยากๆด้วยความง่ายดาย
เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กเกิดการค้นพบความรู้ด้วยตนเอง

สาเหตุที่ครูต้องใช้สื่อการสอน
1. ช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่เป็นจริง
2. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนถึงสิ่งที่มีปัญหา เกี่ยวกับขนาด กาลเวลา และระยะทาง
3. ช่วยเร้าและกระตุ้นความสนใจ ทัศนคติที่ดีของผู้เรียน ช่วยให้เรียนได้ง่าย รวดเร็ว และเพลิดเพลิน
4. ช่วยแสดงกรรมวิธีต่างๆ ซึ่งไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ด้วยพูด
5. สร้างโอกาสให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
6. ช่วยให้เรียนได้มากขึ้นในเวลาที่น้อยลง
7. ช่วยให้มีความทรงจำต่อสิ่งที่เรียนได้นาน และนำไปใช้ได้ดีกว่า

คุณค่าของสื่อการสอน
สื่อการสอนจัดองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในระบบการเรียนการสอนหรือระบบการศึกษา ในที่นี้จะพิจารณาเกี่ยวกับประโยชน์หรือคุณค่าของสื่อการสอนออกโดยแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ
-  คุณค่าที่มีต่อผู้เรียน
-  คุณค่าที่มีต่อผู้สอน

1.คุณค่าของสื่อการสอนที่มีต่อผู้เรียน
1.1 ช่วยกระตุ้นและเร้าความสนใจของผู้เรียน
ช่วยทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจเนื้อหาของบทเรียน ที่ถูกนำเสนอผ่านทางสื่อการสอน เพราะอาจนับได้ว่า ความสนใจเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ของผู้เรียนในที่สุด
1.2 ช่วยให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็ว
ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกับวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนเช่น การใช้ภาพวาดการใช้หุ่นจำลอง เป็นต้น
1.3 ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลในบริบทของการเรียนรู้
ผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ การใช้สื่อการสอนจะช่วยลดอุปสรรคหรือแก้ปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลที่มีผลต่อการเรียนรู้ เช่น การใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
1.4 ช่วยให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน และระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน
สื่อการสอนที่ถูกออกแบบมาให้ผู้เรียนต้องมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมการเรียนการสอน ช่วยเอื้ออำนวยให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกัน หรือระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ช่วยให้บรรยากาศของการเรียนการสอนมีชีวิตชีวา
1.5 ช่วยให้สามารถนำเนื้อหาที่มีข้อจำกัดมาสอนในชั้นเรียนได้
การสอนหน่วยที่มีข้อจำกัด เช่น เนื้อหาที่มีความอันตราย เป็นเรื่องหรือเหตุการณ์ในอดีต เนื้อหามีค่าใช้จ่ายสูง เป็นต้น การใช้สื่อการสอนจะช่วยขจัดปัญหาในการสอนเนื้อหาที่มีข้อจำกัดดังที่ได้กล่าวไปแล้วได้
1.6 ช่วยให้ผู้เรียนเรียนอย่างกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมกับการเรียน
สื่อการสอนที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี ต้องเป็นสื่อการสอนที่สามารถกระตุ้นหรือเร้าให้ผู้เรียนทำการเรียนรู้ด้วยความกระตือรือร้น โดยให้ผู้เรียนต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบทเรียน โดยควรเน้นที่ปฏิสัมพันธ์ด้านการใช้ความคิดหรือกิจกรรมทางสมอง
1.7ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างเพลิดเพลิน สนุกสนาน และไม่เบื่อหน่ายต่อการเรียน
การใช้สื่อการสอน จะเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศในห้องเรียนให้แตกต่างไปจากสิ่งที่เคยปฏิบัติเป็นประจำในชั้นเรียน ทำให้ผู้เรียนไม่เบื่อหน่ายต่อการเรียน


2. คุณค่าของสื่อการสอนที่มีต่อผู้สอน
2.1 ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้สอนในด้านการเตรียมการสอนหรือเนื้อหาการสอน
ผู้สอนไม่ต้องจดจำเนื้อหาบทเรียนทั้งหมดเพื่อนำมาบรรยายด้วยตนเอง เพราะรายละเอียดของเนื้อหา บทเรียนส่วนใหญ่จะถูกนำเสนอผ่านทางสื่อการสอน ในกรณีที่ต้องสอนซ้ำในเนื้อหาเดิม ก็สามารถนำสื่อการสอนที่เคยใช้สอนกลับมาใช้ได้อีก
2.2 ช่วยสร้างบรรยากาศในการสอนให้น่าสนใจ
การใช้สื่อการสอนจะช่วยสร้างบรรยากาศในการเรียนให้มีความน่าสนใจขึ้นมาได้
2.3 ช่วยสร้างความมั่นใจในการสอนให้แก่ผู้สอน
การใช้สื่อการสอนจะช่วยให้ผู้สอนมีความมั่นใจในการสอนมากขึ้น เพราะเนื้อหาเหล่านั้นสามารถที่จะบันทึกไว้ได้ในสื่อการสอน
2.4 กระตุ้นให้ผู้สอนตื่นตัวอยู่เสมอ
ในขั้นการเตรียมผลิตสื่อการสอน การเลือกสื่อการสอน หรือการจัดหาสื่อการสอน ตลอดจนการแสวงหาเทคนิคใหม่ ๆ มาใช้ในการสอน จะทำให้ผู้สอนเป็นผู้มีความตื่นตัว และมีการพิจารณาเพื่อทำให้การสอนบรรลุวัตถุประสงค์

คุณค่าของสื่อการสอนยังจำแนกเป็นรายด้านได้ 3 ข้อ
คือ       1. คุณค่าด้านวิชาการ
2. คุณค่าด้านจิตวิทยาการเรียนรู้
3. คุณค่าด้านเศรษฐกิจการศึกษา

1. คุณค่าด้านวิชาการ
1.1 ทำให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ตรง
1.2 ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีกว่าและมากกว่า
1.3ส่วนเสริมด้านความคิด และการแก้ปัญหา
1.4 ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ถูกต้อง และจำเรื่องราวได้มาก
1.5 ช่วยเร่งในการเรียนรู้ ทักษะ ทุกด้าน
2. คุณค่าด้านจิตวิทยาการเรียนรู้
2.1 ทำให้เกิดความสนใจ และต้องเรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น
2.2 ทำให้เกิดความคิดรวบยอดเป็นเพียงอย่างเดียว
2.3 เร้าความสนใจ ทำให้เกิดความพึงพอใจ และยั่วยุให้กระทำกิจกรรมด้วยตนเอง
3. คุณค่าด้านเศรษฐกิจการศึกษา
3.1 ช่วยให้ผู้เรียนที่เรียนช้าเรียนได้ดีขึ้น
3.2 ประหยัดเวลาในการทำความเข้าใจเนื้อหาต่าง ๆ
3.3 ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้เหมือนกันครั้งละหลาย ๆ คน
3.4 ช่วยขจัดปัญหาเรื่องเวลา สถานที่ ขนาดและระยะทาง

สรุปได้ว่า สื่อการสอนมีคุณค่าต่อระบบการเรียนการสอนหรือการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งคุณค่าที่เกิดขึ้นต่อผู้เรียน และผู้สอน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความสำคัญและมีบทบาทมากในกระบวนการเรียนการสอน ประเด็นสำคัญของคุณค่าของสื่อการสอน คือ สื่อการสอนช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ




สื่อการสอนระดับปฐมวัย แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1.      ประเภทวัสดุ
หมายถึง สิ่งช่วยสอนที่มีการสิ้นเปลือง เช่น ชอล์ก ฟิล์ม ภาพถ่าย ภาพยนตร์ สไลด์ เป็นต้น
2.      ประเภทอุปกรณ์
หมายถึง สิ่งช่วยสอนที่เป็นเครื่องมือ ซึ่งได้แก่ เครื่องเสียง เครื่องรับวิทยุ เครื่องเล่นเทปบันทึกเสียง เครื่องฉาย กระดานดำ ม้าหมุน กระดานหก เป็นต้น
3.      ประเภทวิธีการ
ได้แก่ การสาธิต การทดลอง เกม กิจกรรมต่างๆ การเล่นบทบาทสมมติ การจัดสถานการณ์จำลอง การจัดศูนย์การเรียน เป็นต้น

          แม้ว่าสื่อทั้งสามประเภทจะเป็นสื่อการสอนที่ช่วยให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ทัศนคติ ค่านิยม หรือทักษะ ที่ครูมีไปสู่นักเรียนได้ แต่การจะใช้สื่อเหล่านี้กับเด็กปฐมวัยให้ได้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ยังขึ้นอยู่กับลักษณะและชนิดของสื่อที่ครูต้องรู้จักเลือกให้เหมะสมกับจุดมุ่งหมายและเนื้อหาสาระของการสอน ที่สำคัญที่สุด ก็คือ ต้องให้เหมะกับลักษณะและความสามารถหรือพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กปฐมวัย

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

วิธีการสืบค้นบทความ งานวิจัย และวิทยานิพนธ์

สวัสดีค่ะ นักศึกษาและผู้ที่สนใจ
การศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากการอ่านบทความ งานวิจัย และวิทยานิพนธ์ จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ และมีแนวทางในการทำงานที่ถูกต้องและทันสมัย
วันนี้ อาจารย์น้ำนำวิธีการค้นคว้างานมาฝากกันค่ะ
        ยังเป็นกำลังใจให้เสมอ ^^
                                อ.น้ำ

วิธีการสืบค้น บทความ งานวิจัย และวิทยานิพนธ์จากฐานข้อมูลออนไลน์

ซึ่งเป็นหน้าหนึ่งในเวปไซค์ของ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

2.    ในหน้านี้จะมีฐานข้อมูลจากหลายแหล่ง ทั้งจาก สกอ. , ต่างประเทศ และประเทศไทย ซึ่งเราก็คลิ๊กเลือกฐานข้อมูลที่เราสนใจได้เลยค่ะ

วิธีการสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลออนไลน์ของประเทศไทย Thailis
1.    เปิดเวปไซค์ของ Thailis ได้ที่
1.1  เวปไซค์ http://tdc.thailis.or.th/tdc/basic.php
1.2 เซิช google พิมพ์คำว่า thailis
1.3 คลิ๊กเลือกจากหน้าฐานข้อมูลออนไลน์ ของหน้าสำนักวิทยบริการของมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดตามข้อ 2 ข้างต้น เลือกฐานข้อมูลภาษาไทย ตัวที่ 2 ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ งานวิจัยฉบับเต็มของมหาวิทยาลัยไทย
จะได้หน้านี้มาค่ะ
2. พิมพ์คำที่ต้องการสืบค้น และเลือกรายละเอียดที่ต้องการ แล้วคลิ๊ก ค้นหา
3. จะได้ผลลัพธ์เรียงออกมาเยอะแยะ ก็ลองดูชื่อเรื่องที่ตรงกับความต้องการของเรา โหลดไว้อ่านได้เลยค่ะ

ขอให้ทุกคนมีความสุขในการเพิ่มพูนความรู้ของตนเองนะคะ



 

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

ข้อมูลดิบจากแบบสอบถาม ของนักศึกษาสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ปี 2/2554


สวัสดีค่ะ นักศึกษาที่รัก
จากการที่เราได้ลองทำแบบสอบถามในชั้นเรียน จัดทำตารางคู่มือ และวิเคราะห์รหัสจากแบบสอบถาม

ขั้นตอนต่อไป คือ การลงรหัสในโปรแกรมสำเร็จรูป ดังนั้น นักศึกษาจำเป็นต้องใช้ข้อมูลดิบดังต่อไปนี้

โหลด แล้วเจอกันในชั้นเรียนนะคะ

ปี 2 ห้อง 1 >>>> http://www.mediafire.com/?356x51yrgma37et

ปี 2 ห้อง 2 >>>> http://www.mediafire.com/?lfzg9feee90qyit

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

จิตวิทยาการสอนคณิตศาสตร์


             
ทฤษฎีการสอนต่าง ๆ ตลอดทั้งแม่บทการเรียนรู้ทั้งหมดย่อมต้องใช้จิตวิทยาเป็นพื้นฐาน นั่นคือ จิตวิทยาที่ว่าด้วยการพัฒนาการของเด็ก เพื่อครูผู้สอนจะได้ใช้ดุลยพินิจว่าจะสอนเนื้อหาสาระอะไรให้เด็กได้บ้าง

ในช่วงแต่ละวัย เด็กที่มีความสามารถ ความถนัด และความสนใจที่หลากหลายและแตกต่างกันก็ต้องใช้วิธีสอนและเทคนิคการสอนที่แตกต่างกัน ในแต่ละวัยของเด็กมีผู้ค้นคว้าและศึกษาวิจัยไว้ว่าจะเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง มากน้อยเพียงใด ถ้าสอนในสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของเขาแล้วก็เป็นการสูญเปล่าผู้เรียนอาจท่องความรู้ได้แบบนกแก้ว นกขุนทอง แต่หาได้เข้าใจหรือรู้ความหมายของสิ่งที่ตนท่องได้ไม่ หรือได้ก็ไม่ทั่วถึง ไม่ชัดเจน ซึ่งเรียกว่า rote learning หรือ memorization อันเป็นแนวคิดที่มักเชื่อกันว่าจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นได้ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก



Jean Piaget นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ได้นำเสนอทฤษฎีอันมีรากฐานมาจากการศึกษาโครงสร้างของความรู้มากกว่าหน้าที่ของมัน Piagetสนใจศึกษาในแง่ที่ว่า 'how the mind works rather than what it does' ซึ่งพบว่าการเจริญของสมอง และสติปัญญานั้นเป็นผลสิบเนื่องจากการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้

 
1.Muturation เป็น ระบบประสาทหรือเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของสมอง

2.Physical Experience เป็นประสบการณ์ด้านกายภาพ คือได้มีปฏิสัมพันธ์(interaction) กับ
สิ่งแวดล้อม สัมผัสสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง เมื่อโตขึ้นจะสามารถใช้สัญลักษณ์ทางภาษาได้

3.Social Interaction เป็นโอกาสที่ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน
ความคิดที่เป็นนามธรรม เช่น ความดี ความงาม ความจริง ความซื่อสัตย์ เป็นต้น

4.Equillibrium เป็นสภาพที่สมดุลเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความเข้าใจ สามารถคิดแก้ปัญหาและตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้

ระดับความเจริญทางสติปัญญาของ Piaget
1.Sensory-motor period
เป็นช่วงวัยแรกเกิดถึงสองขวบ (0-2 ปี) เด็กที่อยู่ในระยะนี้จะรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวที่สามารถมองเห็นและสัมผัสได้ เด็กจะเรียนรู้ลักษณะของสิ่งต่าง ๆ ตามสภาพความเป็นจริงที่สามารถมองเห็นได้ การรับรู้ในขั้นต้นจะเริ่มจากความสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสิ่งของที่มองเห็นรอบ ๆ ตัว เช่น ขวดนม ตุ๊กตา ที่นอน แต่หลังจากเด็กอายุได้ 1เดือนแล้ว จะขยายความสนใจไปในสิ่งที่มีโครงสร้างที่ซับซ้อนขึ้นได้



เช่น เมื่อนำกรอบไม้สัก 2 อันโดยที่อันหนึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมธรรมดาแต่อีกอันหนึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่มีเส้นทแยงมุมอยู่ภายในด้วย มาให้เด็กเลือก เด็กส่วนใหญ่จะเลือกรูปที่มีเส้นทะแยงมุมอยู่ด้วย เพราะมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากกว่า
ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับสิ่งของในระยะต้นนี้จะอยู่ในรูปของการจับคู่แบบสมนัยหนึ่งต่อหนึ่ง (one to one correspondence)เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างปากของเด็กกับนมของแม่ นอกจากนี้เด็กจะเรียนรู้ถึงการแสดงกิริยาต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่เขาต้องการ เช่น เมื่อเห็นแมวก็บอกให้เขารู้ว่านี่เป็นแมวนะ อย่าจับ กลัวมัน คราวต่อไปถ้าเด็กร้อง เราก็บอกว่า อย่าร้องเดี๋ยวแมวมา เด็กก็จะหยุดร้องเป็นต้น เมื่อเด็กอายุเกิน 1 ขวบ เขาจะเริ่มรับรู้และรู้จักสิ่งของต่าง ๆ ที่อยู้ในสายตา สามารถสร้างภาพพจน์ของสิ่งของที่ไม่อยู่ในสายตาได้บ้าง
เมื่อเด็กอายุประมาณ 2 ขวบ เขาจะเรียนรู้ถึงการเลียนแบบคนที่อยู่ใกล้ชิด และสิ่งของต่าง ๆ อาจจะเลียนแบบได้ทันที หรือเมื่อเวลาผ่านไปแล้วก็ได้ สิ่งเหล่านี้จะสังเกตุได้เมื่อเด็กเล่นขายของกันจะสมมุติว่าตัวเองเป็นคนขาย หรือคนซื้อ สมมุติให้ตุ๊กตาแทนน้องหรือลูก เป็นต้น ประสบการณ์เหล่านี้จะทำให้เด็กเกิด cognitive frame work คือพิจารณาประสบการณ์ที่ตัวเองเห็นแล้วรับเอาไว้ และยังสามารถนำเอาไปใช้ทีหลังได้ สิ่งนี้สำคัญมากในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เด็กจะเริ่มแต่งเรื่องต่าง ๆ ขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวอันเกิดจากความคิดฝัน จินตนาการของเขา และเห็นว่ามันเป็นเรื่องจริง วัยนี้ถือว่าเป็นสัยที่สำคัญมาก ถ้าเด็กขาดประสบการณ์ที่ดีในเบื้องต้น จะทำให้เกิดปัญหาในการเรียนพื้นฐานอันจะส่งผลต่อการเรียนรู้ในเรื่องที่มีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย

2.Concrete operation period (อายุ 2-11)
เป็นวัยที่เริ่มมาโรงเรียน ครูจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการของเด็กในระยะนี้ และสามารถแบ่งได้เป็นสองระยะย่อย คือ Preoperation Subperiod
(อายุ 2-7 ปี) เป็นระยะที่เด็กมีความสามารถในการใช้คำพูดต่าง ๆ ได้คล่องแคล่วขึ้น สามารถแยกความแตกต่างของคำที่ใช้และเข้าใจความหมายมากขึ้น สามารถแยกความแตกต่างของวัตถุสิ่งของต่าง ๆ จากลักษณะภายนอกที่มองเห็นได้ เด็กจะเริ่มแสดงพฤติกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการด้วยวิธีการต่าง ๆ มากมายในระยะแรกคือ ระยะ sensory motor เด็กจะรับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาจำกัด แต่เมื่อเด็กเจริญเติบโตมาถึงระยะนี้ เด็กจะสามารถรับรู้ถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้ โดยเด็กสามารถใช้คำพูดอธิบายถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วและสามารถที่จะพูดถึงสิ่งที่ตั้งใจจะทำในเวลาต่อไปได้อย่างถูกต้อง ทางด้านพฤติกรรม เด็กจะแสดงพฤติกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการและใช้ความพยายามมากกว่าหนึ่งพฤติกรรม ในวัยนี้เด็กจะเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นนามธรรมมากขึ้นทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตวามสามารถของเด็กแต่ละคนว่าจะพัฒนาขึ้นมาได้มากน้อยเพียงใด


เด็กในวัยนี้จะเรียนรู้คำศัพท์ต่าง ๆ มากขึ้น และเริ่มเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งของเฉพาะสิ่ง ความเข้าใจตอนแรกจะมุ่งไปทางการแสดงพฤติกรรม เช่น เด็กที่เคนรับประทานของที่มีรสเผ็ดเมื่อไปรับประทานอะไรที่มีรส หวาน มัน เปรี้ยว หรือ ขม เขาก็จะบอกว่าเผ็ดไปหมดแสดงว่าเขาไม่สามารถจำแนกความแตกต่างของคำได้ เมื่อโตขึ้นเขาก็จะค่อย ๆ เรียนรู้ถึงความแตกต่างของคำได้มากขึ้นเป็นลำดับเรื่อยไปจนเรียนรู้ว่าเผ็ดนั้นต่างจากรสอื่น ๆ ที่กล่าวถึง การที่เด็กได้พัฒนาเรียนรู้ของคำต่าง ๆ ที่เป็นนามธรรมมากขึ้นนั้น เป็นแกนหลักที่สำคัญในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ อย่างไรก็ตามเด็กในวัยนี้ยังต้องอาศัยสิ่งที่เป็นรูปธรรม (concrete object)อยู่มาก เด็กจะเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมโดยอาศัยเฉพาะสิ่งที่มองเห็นและจับต้องได้เท่านั้น

ความสามารถคิดย้อนกลับ(Reversibility)
ในขั้น Preoperation Subperiod นี้เด็กไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในแง่ของการคิดย้อนกลับ (reverse) ได้ เช่น ถ้าเรานำดินน้ำม้นขนาดเท่า ๆ กันมาสองก้อน ก้อนหนึ่งทำเป็นแท่งยาว ๆ คล้ายดินสอแล้วให้เด็กเลือกว่าก้อนใดมีปริมาณของดินน้ำมันมากกว่ากัน เด็กส่วนมากจะเลือกก้อนที่ยาว แสดงให้เห็นว่าความสามารถในการคิดย้อนกลับของเด็กยังไม่มี ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วดินน้ำมันทั้งสองก้อนนั้นมาจากดินน้ำมันที่มีขนาดเท่า ๆ กัน และมีรูปร่างเหมือน ๆ กัน แต่เด็กตัดสินใจโดยอาศัยรูปร่างเท่าที่เห็นเท่านั้น ความคิดย้อนกลับนี้เป็นส่วนหนึ่งของความเข้าใจเรื่องเครื่องหมายในวิชาคณิตศาสตร์



เช่น 3+4=7 แล้ว 7-4=3 หรือ 7-3=4 จากตัวอย่างจะเห็นว่าเมื่อนำเอา 3 มารวมกับ 4 แล้วได้ผลลัพธ์เป็น 7 แต่เมื่อกลับเครื่องหมายโดยนำ 4 ไปลบออกจาก 7 ผลลัพธ์จะเป็น 3 หรือถ้านำ 3 ไปลบออกจาก 7 ผลลัพธ์จะเป็น 4 จะเห็นว่าวิธีการทางคณิตศาสตร์เกี่ยวข้องกับความสามารถในการคิดย้อนกลับของเด็ก หรือถ้าเรามีประโยคสัญลักษณ์ ถ้า 3 + 4 = 7 แล้ว (3+4)+ 5 = 7+5 ประโยคเดิมคือ 3 + 4 = 7 ได้ถูกเปลี่ยนแปลงโดยบวก 5 เข้ากับ 3+4 ดังนั้น 7 ต้องบวกด้วย 5 ด้วยสมการจึงจะยังคงเป็นจริงเหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้เป็นการยากที่เด็กจะเข้าใจได้ว่า การทำจำนวนที่เท่ากันด้วยการเพิ่มปริมาณขึ้นเท่า ๆ กันทั้งสองข้างของสมการ ผลที่ได้จะทำให้สมการนั้นเป็นจริง เด็กจะต้องคิดย้อนกลับไปถึงตอนแรกว่า ประโยคสัญลักษณ์นี้เท่ากันมาตั้งแต่แรก
การคิดย้อนกลับเป็นความสามารถที่เด็กเข้าใจได้ยากตั้งแต่ในช่วงต้นจนถึงช่วงปลาย preoperation Subperiod ซึ่งครูผู้สอนต้องระมัดระวังไม่พลั้งเผลอไปเร่งให้เด็กเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องหมายสองชนิดในแง่ของการคิดย้อนกลับ
Concrete operational subperiod(อายุ 7-11) เริ่มต้นของวัยนี้ เด็กยังไม่สามารถเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่งได้ดีมานัก เช่น ถ้ามีที่แขวนเสื้อกับเสื้อซึ่งเรียงกันอยู่คนละรูปแบบแล้วให้เด็กจับคู่แบบ 1-1 จะทำให้เขาเกิดความยุ่งยากใจในการจัดการมาก
เมื่อเด็กเข้าสู่วัย concrete operation period เขาจะมีความเข้าใจดีขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ลักษณะของกลุ่มไม่มีผลต่อจำนวนสมาชิกในกลุ่ม เด็กในระยะนี้จะเริ่มมองเหตุการณ์ต่าง ๆ กว้างขึ้น ไม่มองสิ่งต่าง ๆ ด้านเดียวและสามารถคิดย้อนกลับได้ด้วย
จากการทดลองเกี่ยวกับดินน้ำมันที่ปั้นเป็นก้อนกลมสองก้อนที่เด็กในระยะ preoperational ไม่สามารถคิดย้อนกลับถึงปริมาณของดินน้ำมันได้ แต่เด็กในช่วงวัยประมาณ 7 ปี เริ่มสามารถคิดย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นได้ เด็กจะเริ่มเข้าใจดีขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของสี่งของนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงปริมาณไปด้วย ความคิดของเด็กเริ่มไม่จำกัดอยู่กับเฉพาะในสิ่งที่เห็นเท่านั้น เด็กจะเริ่มเรียนรู้ถึงการมองสิ่งต่าง ๆ ในลักษณะของภาพรวม เช่น มีปัญหาว่า มีไก่ 9 ตัว กินอาหารอยู่ในกรง เมื่อกินอาหารอิ่มแล้วไก่ 6 ตัว เข้าไปฟักไข่ ส่วนอีก 3 ตัว เดินเล่นอยู่ ถามว่ามีไก่อยู่ในกรงทั้งหมดกี่ตัว คำตอบที่ถูกต้องคือ 9 ตัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการที่ 6 และ 3 ได้เปลี่ยนรูปการจัดไป แต่ก็ไม่ส่งผลต่อผลรวมเดิมของมัน
ระยะนี้ถึงแม้นเด็กจะเริ่มเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในการจัดกลุ่มใหม่ว่าไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงจำนวนของสมาชิกในกลุ่มที่มีอยู่ก็ตาม แต่เด็กก็ยังไม่เข้าใจว่าน้ำหนักหรือปริมาณของสิ่งของจะไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน การเข้าใจในเรื่องน้ำหนัก เด็กจะเข้าใจเมื่ออายุประมาณ 9 ขวบ ในขณะที่ความเข้าใจในเรื่องปริมาตรจะเข้าใจเมื่ออายุประมาณ 11 ถึง 12 ปี
Piaget ทำการทดลองโดยใช้ตุ๊กตาและท่อนไม้ ซึ่งตุ๊กตากับท่อนไม้มีขนาดต่างกันอย่างละ 10 ชิ้น โดยให้เด็กเรียงตุ๊กตาและท่อนไม้และกำหนดว่าตุ๊กตาแต่ละตัวต้องจับคู่กับท่อนไม้ที่มีขนาดเดียวกัน การเรียงต้องเรียงจากเล็กสุดไปหาใหญ่สุด เด็กอายุ 7 ขวบ สามารถจับคู่สิ่งของดังกล่าวได้ถูกต้อง แต่ถ้าเรียงตุ๊กตาและท่อนไม้ให้สลับกัน คือ เรียงตุ๊กตาจากตัวเล็กสุดไปหาใหญ่สุด ส่วนท่อนไม้ให้เรียงจากท่อนใหญ่สุดไปหาเล็กสุด เด็ก 7 ขวบไม่สามารถจับคู่ได้ถูกต้อง แสดงว่าเด็กยังไม่สามารถจัดแยกตุ๊กตาและจัดแยกท่อนไม้ได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้การจับคู่ผิดพลาด แต่เมื่อเด็กเข้าสู่วัย concrete operation stage แล้วเขาก็จะสามารถจับคู่ตุ๊กตาและท่อนไม้ที่มีมีรูปแบบตามที่กล่าวมาแล้วได้ถูกต้อง อันเป็นพื้นฐานความสามารถในการเข้าถึงความหมายของจำนวนต่าง ๆ ได้
การที่ครูเข้าใจพัฒนาการของเด็ก ทำให้ครูสามารถจัดแผนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความสามารถของเด็กเฉพาะเรื่องไป เช่น ถ้าเด็กสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ของจำนวนสมาชิกในกลุ่มที่กำหนดให้กับตัวเลขที่เป็นจำนวนนับต่าง ๆ ได้ จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการเข้าใจในเรื่องจำนวนและตัวเลข ถ้าเด็กสามารถจัดลำดับสมาชิกในกลุ่มตามคุณสมบัติที่กำหนดให้ได้ก็จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่เด็กจะเข้าใจคุณสมบัติต่าง ๆ ของตัวเลขได้
เด็กที่มีความสามารถในการมองปัญหาได้สองด้านจะสามารถแก้ปัญหาโจทย์ที่มีทั้งความแตกต่าง และการเปรียบเทียบของสมาชิกในกลุ่มที่กำหนดให้ เช่น เพรียวมีรถยนต์ 6 คัน พาวมีรถยนต์ 4 คัน เพียวจะมีรถยนต์มากกว่าพาวกี่คัน เด็กจะเปรียบเทียบจำนวนสมาชิกในกลุ่ม คือ 6 และ 4 และใช้วิธีจับคู่แบบหนึ่งต่อหนึ่ง จำนวนรถยนต์ที่เหลือหลังการจับคู่คือจำนวนที่มากกว่า
ในระยะ concrete operation period เด็กจะสนใจสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น เริ่มสนใจเกมที่มีกฏเกณฑ์และมีคู่แข่งขัน ดังนั้นครูจึงควรผลิตเกมต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ให้เด็กได้เล่นจะได้รับความสนใจอย่างมาก
เด็กในระยะ concrete operation period นี้เริ่มสามารถรับรู้เกี่ยวกับรูปทรงทางเรขาคณิต เวลา การเคลื่อนที่ ความเร็ว และอัตราเร็วต่าง ๆ ได้ ครูอาจใช้เส้นจำนวน(number line) หรือเส้นเวลา (time line) แสดงให้เด็กได้เห็น
ในที่สุดแล้ว Piaget ได้ค้นพบว่าในการเรียนเกี่ยวกับเส้นจำนวนนั้น เป็นการสำคัญมากที่ครูจะต้องระมัดระวังให้ความกว้างของแต่ละช่วงมีขนาดเท่า ๆ กัน มิฉะนั้นแล้วจะทำให้เด็กสับสน แต่อย่างไรก็ตามควรจะสอนจากของจริงก่อนจะทำให้เด็กเข้าใจได้ดีกว่าการใช้เส้นจำนวน
นั่นคือในช่วง concrete operation นั้นเด็กจะเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งของ น้ำหนัก ปริมาตร มีการพัฒนาในด้านความสามารถที่จะเข้าใจแนวคิดของการจำแนกและเรียงลำดับ (classifying and ordering) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเข้าใจตัวเลขและจำนวนต่าง ๆ

3. Formal operation period
เด็กอายุตั้งแต่ 11 ขวบขึ้นไป ในระยะ concrete operation เด็กมีความสามารถที่จะตั้งสมมติฐานและทำการทดลองตามสมมติฐานที่ตั้งขึ้นได้ แต่เด็กในช่วง formal operations จะสามารถรวบรวมหาเหตุผลต่าง ๆ มาพิสูจน์ข้อสมมติฐานที่ตั้งขึ้นนั้น เช่น (1/2)/(1/3) = y ในการแก้ปัญหานี้เด็กต้องสามารถคิดสิ่งที่เป็นนามธรรมเกี่ยวกับการหารและเศษส่วนได้ เด็อาจคิดว่า (1/2)/(1/3) = y นั้นเหมือนกับ 1/2 = yx(1/3) เพราะเคยเรียนมาแล้วว่า 6/3 = 2 มีความสัมพันธ์กับ 6 = 2x3 และเด็กก็รู้ว่าจะสามารถคูณทั้งสองข้างของสมการด้วย 3 ได้ ดังนั้นจากประโยคแรกจะได้ (1/2)x3 = yx(1/3)x3 หรือ (3/2) = yx(3/3) หรือ 3/2 = y นั่นเอง
เด็กในวัยนี้จะสามารถมองเห็นปัญหาต่าง ๆ ได้กว้างขวางมากขึ้น และสามารถนำความสัมพันธ์ของเรื่องต่าง ๆ ที่เรียนมาแล้วมาใช้แก้ปัญหาโจทย์ได้ โดยบางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้ของจริงหรือสิ่งที่จับต้องได้เข้าไปช่วยในการเรียนเลย เด็กในระยะนี้จะสามารถเข้าใจแนวคิดต่าง ๆ ที่เป็นนามธรรมและซับซ้อนได้มากขึ้น เด็กจะชอบวิชคณิตศาสตร์เพราะรู้สึกสนุกต่อการที่สามารถแก้ปัญหาและหาคำตอบที่ถูกต้องได้
จากทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของ Piaget แสดงให้เห็นว่าการที่ครูจะทำให้ผลของการเรียนการสอนดีขึ้นนั้น ครูควรต้องเข้าใจพฤติกรรมต่าง ๆ ของเด็กที่แสดงออก และควรจัดบทเรียนโดยคำนึงถึงความสามารถในการรับรู้ของเด็กในวัยนั้น ๆ ด้วย

จุดประสงค์ในการศึกษาของ Piaget
1. ต้องการสร้างคนให้มีความสามารถกระทำสิ่งใหม่ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักประดิษฐ์คิดค้น และแสวงหาความรู้ด้วยตนเองโดยไม่ลอกเลีบยแบบจากผู้อื่น
2. ต้องการให้คนสามารถพิสูจน์ปัญหาต่าง ๆ ก่อนที่จะยอมรับและสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้
3. ต้องการให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นที่จะแสวงหาความรู้ด้วยตนเองตั้งแต่เด็ก โดยส่วนหนึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กเอง และอีกส่วนหนึ่งครูจะเป็นผู้จัดให้      Jerome S.Bruner
เป็นผู้อำนวยการของ Harvard's Center for Cognitive Studies เป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการทางสติปัญญา(cognitive development) โดยอาศัยขั้นตอนต่าง ๆ จากการศึกษาของ Piaget และนำมาศึกษาต่อ Bruner มีความเห็นต่อการจัดการศึกษาว่า ทฤษฎีพัฒนาการจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างทฤษฎีการเรียนรู้และทฤษฎีการสอน การที่ Bruner กล่าวเช่นนี้แสดงว่าวิชาการต่าง ๆ เราสามารถสอนให้เด็กคนใดของเวลาใดในขั้นของพัฒนาการก็ได้ ถ้าผู้สอนสามารถสามารถสอนอย่างสอดคล้องกับระยะพัฒนาการของเด็กนั้น ๆ
         Bruner คิดว่าความพร้อมนั้นเป็นสิ่งสำคัญแต่ในขณะเดียวกันความพร้อมก็เป็นสิ่งที่สอน หรือทำให้เกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดขึ้นเอง ควรจ้ดให้เด็กเกิดความพร้อมขึ้นเพื่อที่จะเรียนให้ทันเพื่อน ข้อควรระวังในการจัดให้เกิดความพร้อมนั้นอาจมีผลทั้งในทางบวกและลบ ทางบวกคือทำให้ครูทราบว่าความพร้อมสามารถจะจัดให้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องรอ ในทางลบคือถ้าจัดความพร้อมให้ไม่ถูกส่วนจะทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่าย กลายเป็นเครื่องกีดขวางการเรียนรู้ของเด็กไป

ขั้นตอนการพัฒนาการทางสติปัญญาของ Bruner แบ่งได้เป็น 3 ขั้น
1. Enactive representation
เปรียบได้กับขั้น sensory motor ของ Piaget เด็กในขั้นนี้จะเข้าใจสิ่งแวดล้อม และแสดงความเข้าใจนั้น ๆ ด้วยการกระทำและจะเป็นผลต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนโตมิได้หยุดอยู่ในช่วงระยะนี้เท่านั้น เช่น เด็กจับของเล่นแล้วเขย่าเกิดเสียงดังขึ้น ถ้าของเล่นตกเด็กก็จะดูที่มือแล้วเขย่ามือ เพราะคิดว่าจะดังเหมือนของเล่น ซึ่งเป็นการรับรู้ และแสดงออกด้วยการกระทำ ในชีวิตจริงของคนเรานั้นบางครั้งจะพบว่าผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวัยนี้แล้วก็ยังใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการลงมือทำจริง ๆ เช่น การขับรถยนต์ การเล่นฟุตบอล ซึ่งได้ผลดีกว่าการอธิบายโดยใช้คำพูดเพียงอย่างเดียว ดังนั้น Bruner จึงแบ่งขั้นตอนการพัฒนาการทางสติปัญญาให้อยู่แต่เพียงระยะแรกของชีวิตเท่านั้น โดยถือว่าเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องตลอดชีวิต คนจะนำไปใช้ในช่วงใดของชีวิตก็ได้
2. Iconic representation
เด็กที่อยู่ในระยะนี้พัฒนาการทางด้านสติปัญญาอยู่ที่การมองเห็นและการใช้ประสาทสัมผัส Bruner มีความเห็นว่าผลจากการกระทำและการมองเห็นในระยะแรก ๆ นั้นทำให้เด็กเกิดภาพในใจ เช่นเมื่อเด็กเล่นของเล่นอยู่ ถ้าของเล่นตกจากมือ เด็กจะมองหาของเล่นนั้น ถ้าเราไม่หยิบให้เด็กจะแสดงอาการหงุดกงิด ไม่สบายใจโดยเด็กจะไม่เขย่ามือแทนเหมือนระยะ enactive นั่นแสดงว่าเด็กสามารถมองเห็นภาพของเล่นในใจได้
3. Symbolic representation
เด็กในระยะนี้สามารถถ่ายทอดสิ่งที่ได้รู้ ได้เห็นมาโดยอาศัยภา หรือสัญลักษณ์ได้ การที่เด็กสามารถใช้ภาษาซึ่งแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนของความคิดนั้นเป็นขั้นตอนที่สูงสุดของการพัฒนาการทางสติปัญญา เด็กสามารถคิดหาเหตุผลซึ่งในที่สุดก็จะสามารถเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมและสามารถแก้ปัญหาได้ เด็กสามารถคิดหาเหตุผลซึ่งในที่สุดก็จะสามารถเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม และสามารถแก้ปัญหาได้ ความคิด ความเข้าใจในแนวคิดต่าง ๆ จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับภาษา
Bruner มีความเห็นว่าตนเราจะมีการพัฒนาตามขั้นตอน ดังนี้ เริ่มจากการกระทำไปสู่ขั้นจินตนาการและขั้นใช้สัญลักษณ์เป็นภาษาตามลำดับ ซึ่งทุกคนจะต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้ทั้งสิ้น แต่ขั้นตอนทั้งสามนี้จะคาบเกี่ยวกันอยู่ตลอดเวลาไม่ตัดขาดจากกันโดยเด็ดขาดเหมือนแนวคิดของ Pisget

การนำความคิดของ Bruner ไปใช้ในการเรียนการสอน
1. การเรียนรู้ของเด็กเล็ก ๆ ต้องคำนึงถึงในแง่ที่ให้เด็กได้แก้ปัญหาด้วยการกระทำ ใช้อุปกรณ์ที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้เด็กสามารถสร้างภาพในใจได้
2. กระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้โดยการกระทำด้วยตนเอง คิดค้นด้วยตนเอง กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ด้วยการค้นพบ (discovering learning) ครูอาจช่วยด้วยการจัดสิ่งแวดล้อมให้
3. เน้นการจัดการเรียนการสอนแก่เด็กมากว่าทำอย่างไรถึงจะช่วยให้เด็กเกิดการพัฒนาการมากขึ้น นั่นคือ เด็กจะได้เรียนเนื้อหาวิชาโดยการจัดประสบการณ์แบบ nonverbal ทำให้เกิดการสอนแบบ nonverbal instructional package
4. ในการจัดการเรียนการสอนครูต้องคำนึงถึงทฤษฎีแห่งการเรียนรู้และทฤษฎีของการสอนซึ่งจะทำให้การสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ลักษณะทางสติปัญญา(mental characteristics)
ลักษณะทางสติปัญญาของเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เด็กวัยนี้สามารถเข้าใจแนวคิดที่เป็นนามธรรมได้ดีขึ้น จึงสามารถเข้าใจหลักศีลธรรมจรรยาได้มากขึ้น แต่บางแนวคิด เด็กจะเข้าใจได้ยากจำเป็นที่ครูจะต้องแสดงความเห็นใจ และไม่แสดงการดูถูก ครูต้องอดทนที่จะอธิบายให้เด็กเข้าใจ เด็กวัยนี้ยังมีช่วงของความสนใจยาวขึ้น มีจินตนาการสูง ครูจะต้องให้การบ้านที่ท้าทายจินตนาการในทุกวิถีทางที่จะทำได้ หรืออาจเป็นเกม ปริศนา หรือปัญหาที่น่าคิดแทนแบบฝึกหัดที่น่าเบื่อหน่าย หรืออาจตั้งชื่อเรื่องให้ดูสนุกสนานก็ได้ พัฒนาการทางสติปัญญาตามความเห็นของ Piaget ว่าเด็กวัยนี้มีอายุระหว่าง 12-15 ขวบ เป็นช่วงสุดท้ายของการพัฒนาการทางสติปัญญาซึ่งเด็กอยู่ในขั้น formal operation ซึ่งสามารถคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ทุกเรื่อง และยังตั้งสมมติฐานได้อีกด้วย ส่วน Bruner เห็นว่าเด็กในวัยนี้สามารถใช้สัญลักษณ์ได้กว้างขวางขึ้น ครูมีวิธีช่วยให้เด็กได้พัฒนาขึ้นไปอีก โดยกระตุ้นให้ใช้วิธีสอนโดยการค้นพบด้วยการเน้นความเข้าใจในแนวคิดและสิ่งที่เป็นนามธรรมต่าง ๆ
สรุปการสังเกตของ Piaget และ Bruner ได้ว่าเด็กในวัยนี้สามารถคิดอย่างมีเหตุผล แต่อาจจะไม่ใช่เหตุผลเดียวกับที่ผู้ใหญ่คิด ซึ่งครูอาจทราบเหตุผลของเด็กได้โดยการกระตุ้นให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ หรืออาจให้เขียนรายงานโดยไม่ให้คะแนนก็ได้
ลักษณะทางสติปัญญาของเด็กมัธยมปลาย เด็กในวัยนี้พัฒนาการด้านสติปัญญาสูงเกือบเท่าผู้ใหญ่ เพียงแต่ยังขาดประสบการณ์จึงไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก นอกจากนี้เด็กยังคำนึงถึง "ปรัชญาชีวิต" โดยมุ่งไปในเรื่องของศาสนา ศีลธรรม จรรยา และการเมืองแต่ยังไม่กล้าตัดสินใจ ครูจะต้องเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิต เด็กในวัยนี้ตามแนวคิดของ Piaget และ Bruner เห็นว่าจะมีลักษณะเช่นเดียวกับเด็กในระดับมัธยมต้น เพราะเชื่อว่าหลังจากอายุ 15 ปีขึ้นไปแล้ว พัฒนาการทางด้านสติปัญญาของเด็กจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่เมื่ออายุมากขึ้น ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาก็ละเอียดถี่ถ้วน และยังสมารถแก้ปัญหาในรูปของนามธรรมได้กว้างขวางมากขึ้น

แนวคิดของ Robert Gagne
Robert Gagne เป็นผู้เสนอแนวคิดที่เรียกว่า ลำดับขั้นการเรียนรู้ (learning hierarchy) ลำดับขั้นการเรียนรู้ หมายถึง สมรรถภาพทางสติปัญญาที่กำหนดขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจง แล้วจัดให้มีความสัมพันธ์เป็นลำดับขั้นต่อกันโดยอาศัยแนวความคิดทางทฤษฎี การสร้างลำดับขั้นการเรียนรู้ทำได้โดยวิธีที่เรียกว่า task analysis ซึ่งจะเริ่มด้วยการกำหนดพฤกรรมขั้นสุดท้ายแล้วพิจารณาต่อไปว่า การที่ผู้เรียนจะเรียนรู้พฤติกรรมขั้นสุดท้ายได้นั้น ผู้เรียนจะต้องมีความสามารถหรือมีพฤติกรรมพื้นฐานอะไรมาก่อน จากนั้นก็ใช้วิธีการเดิมวิเคราะห์พฤติกรรมในขั้นที่ 2 ต่อไปอีกจนถึงพฤติกรรมขั้นต่ำสุดที่คาดว่าผู้เรียนในระดับหรือวัยนั้นมีอยู่แล้ว ดังนั้นพฤติกรรมหรือชิ้นงานเฉพาะขั้นต่ำกว่าจะเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้พฤติกรรมหรือชิ้นงานเฉพาะขั้นสูงกว่าต่อไปเป็นลำดับ
การจะเรียนรู้พฤติกรรมลำดับที่ 5 ได้ จะต้องเรียนรู้พฤติกรรมลำดับที่ 4 หรือ 3 หรือ 2 หรือ 1 ก่อน การกำหนดพฤติกรรมย่อยนั้นต้องกำหนดพฤติกรรมเดียวเป็นอิสระจากกัน ถ้ากำหนดพฤติกรรมหลายอย่างจะทำให้สรุปได้ไม่แน่นอนว่าผู้เรียนได้เรียนรู้พฤติกรรมใดจริง นอกจากนี้แล้วการจัดลำดับพฤติกรรมที่เรียกว่าทักษะทางความคิด และจะทำได้ไม่ดีในพฤติกรรมด้านความจำ
นอกจากนี้แล้ว Gagne ยังแนะนำเกี่ยวกับการเรียนรู้ว่าผู้เรียนควรเรียนจากสิ่งง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนไปหาสิ่งที่ยุ่งยากและซับซ้อนกว่า Gagne ได้วิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนรู้แล้วแบ่งเป็นขั้นตามลำดับซึ่งมีโครงสร้างดังนี้
1. Signal learning เป็นขั้นการเรียนรู้ที่ง่ายที่สุด เกิดการเรียนรู้ตามธรรมชาติ เนื่องจากความใกล้ชิดของสิ่งเร้าละการกระทำซ้ำ ๆ กัน โดยมากจะเกี่ยวข้องกับอารมณ์และตวามรู้สึกของผู้เรียนจะไปบังคับไม่ให้เกิดการเรียนรู้ชนิดนี้ไม่ได้
2. Stimulus-Response learning การเรียนรู้ในขั้นนี้เกิดจากการตอบสนองสิ่งเร้าง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ต่างจากชนิดแรกตรงที่ผู้เรียนสามารถควบคุมพฤติกรรมได้ การตอบสนองสิ่งเร้านี้เป็นไปอย่างตั้งใจ เช่น การออกเสียงตามครู เป็นต้น
3. Chaining การเรียนรู้ในขั้นนี้เป็นการเรียนรู้เนื่องมาจากการเชื่อมโยงของ S-R ZStimulus-Response) ซึ่งต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ทำให้เกิดพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการกระทำ เช่น เขียน หรืออ่านหนังสือ
4. Verbal association มีลักษณะคล้ายกับประเภทที่ 3 แตกต่างกันเพียงขั้นนี้เกี่วข้องกับการใช้ภาษา ซึ่งมีความสำคัญในการสื่อความหมายเช่น เรียก 8 ว่า เลขแปด เป็นต้น
5. Discrimination learning เป็นการเรียนรู้ในลักษณะที่เด็กสามารถแยกแยะสิ่งของต่าง ๆ หรือสามารถมองเห็นความแตกต่างของสิ่งของ
การที่จะเกิดการเรียนรู้ประเภท 3-4 ได้นั้นต้องเกิดการเรียนรู้ประเภท 2 ก่อน แต่การเรียนรู้ประเภท 4 ก็มิได้มีพื้นฐานมาจากการเรียนรู้ประเภทที่ 3 และการเรียนรู้ประเภทที่ 5 จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการเรียนรู้ประเภทที่ 3 หรือ 4 เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
6. Concept learning การเรียนรู้แนวคิดเป็นความสามารถที่ผู้เรียนรู้เห็นความเหมือนกันของสิ่งของหรือเหตุการณ์ ทำให้ผู้เรียนตอบสนองในลักษระที่เป็นกลุ่ม เช่นแนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินการบนเซต การเรียนรู้ในขั้นนี้จะง่ายเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ในขั้นที่ 4
7. Principle learning เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเชื่อมโยงแนวคิดตั้งแต่สองแนวคิดเข้าด้วยกัน และสามารถตั้งเป็นกฎเกณฑ์ขึ้น แล้วนำเอาไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกัน เช่น 3+2=5 รวมแนวคิดทั้งหมด 5 ชนิดเข้าด้วยกัน
8. Problem solving เมื่อเรียนรู้ถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ แล้วเด็กก็จะนำความรู้หรือกฎเกณฑ์นั้นไปแก้ปัญหาใหม่ ๆ ได้
จากโครงสร้างการเรียนรู้ตามแบบของ Gagne จะเห็นว่าการวางแผนการจัดการเรียนรู้ของครูจะต้องวางโครงเรื่องที่จะสอนตั้งแต่ระดับง่าย ๆ ต่อเนื่องกันไปจนถึงระดับสูงที่ยุ่งยากซับซ้อน สิ่งใดที่ผู้เรียนยังไม่รู้ก็ต้องให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เสียก่อน ก่อนที่จะเรียนรู้สิ่งที่สูง ๆ ขึ้นไป Gagne ถือว่าการเรียนรู้ในขั้นที่ 4 สำคัญมาก


ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก http://krupee.blogspot.com/2010/09/blog-post.html ค่ะ ^___^